เริ่มแล้ว สายด่วน สปสช. 1330 ตอบข้อสงสัย กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น

26 ม.ค. 2565 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 17:37 น.

เริ่มแล้ววันนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เปิดช่องทางสื่อสารใหม่ “สายด่วน สปสช.1330” ให้ข้อมูล-ตอบข้อสงสัย เกี่ยวกับ กปท. รวมถึงการจัดทำโครงการสุขภาพภายใต้ กปท.

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 สปสช. ได้เปิดช่องทาง “สายด่วน สปสช. 1330” ในการสอบถาม ขอคำแนะนำ หรือตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.) รวมถึงการจัดทำและเสนอโครงการสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ภายใต้หลักเกณฑ์ของ กปท. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นช่องทางสื่อสารใหม่เพิ่มเติมระหว่างประชาชนและ กปท. ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

เริ่มแล้ว สายด่วน สปสช. 1330 ตอบข้อสงสัย กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น
 

“องค์กร หน่วยงาน และประชาชน ที่อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับ กปท. และผู้ที่ต้องการร่วมดำเนินกิจกรรมกับ กปท. หากมีข้อสงสัยใดๆ วันนี้สามารถสอบถามผ่าน สายด่วน สปสช. 1330 ได้แล้ว โดยจะมีเจ้าหน้าที่ สปสช. ให้ข้อมูลและคำแนะนำรวมทั้งตอบข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับ กปท. เป็นช่องทางสื่อสารเพิ่มเติมนอกจากเพจกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น-กปท.” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.) หนึ่งในนวัตกรรมการบริหารจัดการงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สิทธิบัตรทอง) ของ สปสช. เพื่อมุ่งดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ การจัดกระบวนการหรือกิจกรรมสุขภาพหรือป้องกันโรคขององค์กร หน่วยงาน และประชาชน

 

การจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุหรือคนพิการ และการสนับสนุนและการป้องกันการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ที่รวมถึงกรณีเกิดโรคระบาด อย่างในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ในการดำเนินงาน กปท. องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จะมีบทบาทหลักในการจัดตั้ง กปท. โดยร่วมสมทบงบประมาณ และดำเนินงานร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย และประชาชนในพื้นที่ เน้นรูปแบบบริหารจัดการกองทุนฯ แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันมี อปท.ทั่วประเทศที่ร่วมจัดตั้ง กปท. กว่า 7,000 แห่งแล้ว และมีโครงการเพื่อสุขภาพภายใต้ กปท. เกิดขึ้นมากมาย กระจายไปทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่