ไดเอทช์เร่งเชื่อม e claim สปสช.ช่วยรพ.เบิกจ่ายเร็วขึ้น

15 ม.ค. 2565 | 17:23 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2565 | 00:34 น.

ไดเอทซ์ รับโควิดระลอก 5 เร่งหารือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมต่อระบบ e claim สปสช. ช่วยสถานพยาบาลทั่วประเทศเบิกจ่าย HI / CI / Telemedicine รวดเร็วขึ้น

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด หรือ ไดเอทซ์ Dietz.asia ผู้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบทางไกล หรือ Telemedicine เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไดเอทซ์เตรียมเชื่อมระบบ e claim สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านระบบ DGA Referral Coordination (DGA-RC) ของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. เพื่อช่วยสถานพยาบาลเบิกจ่าย Home Isolation / Community Isolation และ Telemedicine รวดเร็วขึ้น

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด หรือ ไดเอทซ์ Dietz.asia

โดยสัปดาห์หน้าสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จะประชุมอย่างเร่งด่วน เพื่อประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับไดเอทซ์และผู้ประกอบการรายอื่นโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือสถานพยาบาลในวิกฤติโควิดครั้งนี้ ทั้งนี้คาดว่าทันทีที่หลังที่ สปสช. อนุญาตให้มีการเชื่อมระบบ e claim จะสามารถดำเนินการและสามารถใช้งานได้ภายใน 1 สัปดาห์

โดยเมื่อดำเนินการเชื่อมโยงระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ หน่วยบริการที่ใช้งานระบบไดเอทซ์ ทั้งในส่วนของ Home Isolation / Community Isolation / รพ.สนาม และ Hospitel รวมถึงระบบ Telemedicine อื่นๆ เช่น NCDs Telemedicine / NCDs Telemonitoring จะสามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อประกอบการเบิกจ่ายตามชุดข้อมูลมาตรฐาน (Data Set) แบบอัตโนมัติ และ สามารถส่งคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังระบบเบิกจ่าย หรือ e claim ของสปสช.ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกรอกข้อมูลซํ้าซ้อน ลดปัญหาการถูกปฏิเสธธุรกรรม และช่วยสปสช.ในการลดภาระการตรวจสอบ (Audit) ทั้ง Pre-Audit และ Post-Audit

 

 “การระบาดโควิดระลอก 5 นั้นคาดว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อวันละ 30,000-50,000 ราย โดยความรุนแรงอาจไม่เยอะ แต่จำนวนผู้ป่วยเยอะ ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาคีย์ข้อมูล เพื่อเคลม สปสช. ประมาณ 1 วัน แต่หากมีการเชื่อมต่อระบบกับสปสช. ระบบจะมีการตรวจจับข้อมูลอัตโนมัติ หากข้อมูลไม่ครบก็ใส่ข้อมูลให้ครบตามที่ระบบแจ้ง ทำให้สถานพยาบาล ส่งข้อมูลไปยังเบิกจ่ายไปยัง สปสช. ได้รวดเร็ว มีเงินกลับมาหมุนได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันยังลดกระบวนการตรวจสอบของ สปสช.

นายพงษ์ชัย กล่าวต่อไปอีกว่า จากภาวะการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 5 ที่เพิ่มมากขึ้น กรมการแพทย์ได้ออกแนว ทางการดูแลผู้ป่วยโดยเน้นการรักษาด้วยระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation สำหรับคนไข้อาการไม่รุนแรง  ซึ่งการรักษาดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบในการดูแลผู้ป่วยแบบทางไกล หรือ Telemedicine ที่สามารถรองรับการใช้งานได้จำนวนมาก โดย Dietz เปิดระบบ HI / CI Telemedicine ให้โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศใช้งานฟรี ช่วยลดภาระงานบุคลากร ดูแลคนไข้ได้มีประสิทธิภาพ และเบิกจ่ายสปสช.ได้ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยใช้งานมากกว่า 70,000 คน

 

 “Dietz Covid Tracker Telemedicine ระบบจะช่วยแพทย์และพยาบาลในการจัดการข้อมูลคนไข้โควิดใน Home Isolation / Community Isolation ได้ง่ายขึ้น ลดความซํ้าซ้อนของงาน ลดความเสี่ยงให้บุคลากรโดยการพูดคุยกับสื่อสารคนไข้ด้วยแชทกับวีดีโอคอล พยาบาลไม่ต้องกรอกฟอร์มปรอท อาทิ จดอุณหภูมิ ความดัน ออกซิเจนในเลือดด้วยมือทุกๆ วัน วันละ 2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นคนไข้บันทึกเอง ไม่ต้องกรอก nurse note (สอบถามอาการคนไข้ แล้วมาจดด้วยมือลงกระดาษ แล้วมาพิมพ์ลงคอม เปลี่ยนเป็นคนไข้บันทึกเอง) เอาเวลาไป monitor คนไข้ได้มากขึ้น เราทำระบบให้พริ้นเอาไปทำเบิกสปสช.หรือกรมบัญชีกลางได้เหมือนเดิม Community isolation คนไข้อยู่รวมกัน แนะนำให้สอนคนไข้ที่มีศักยภาพเป็นพี่เลี้ยง สอนคนไข้คนอื่นๆ จัดหาคอมพิวเตอร์กลางไว้ 1 เครื่องสำหรับผู้ป่วยรายงานสุขภาพของตนเอง

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,748 หน้า 14 วันที่ 13 - 15 มกราคม 2565