เปิดไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 รายแรกของไทย ผู้ป่วยติดเตียงทั้งคู่

17 ม.ค. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 21:47 น.

เปิดไทม์ไลน์ของผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 2 รายแรกของไทยในจังหวัดสงขลาและอุดรธานี สธ.ระบุทั้งคู่เป็นหญิงสูงวัยอายุ 80 ขึ้นทั้งคู่ และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่ได้ออกไปไหน แต่รับเชื้อจากลูกหลานในครอบครัว เป็นเรื่องที่พึงระวัง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กวันนี้ (17 ม.ค.) ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) โดยพบ ผู้เสียชีวิตรายแรกจากสายพันธุ์โอมิครอน เป็นหญิงสูงอายุวัย 86 ปี และ เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นอัลไซเมอร์ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม จาก รพ.นาหม่อม ติดเชื้อโควิดจากหลานชายที่เป็นผู้ป่วยยืนยันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดภูเก็ต หญิงรายดังกล่าว จึงถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนรายแรกของสงขลา และรายแรกของประเทศไทย

 

เปิดไทม์ไลน์ย้อนหลังดังนี้

  • 6 ม.ค. 65  ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ ทราบข่าวลูกสาวตรวจพบเชื้อโควิด และหลานสาวผู้ป่วยตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผล positive (ผลเป็นบวก หมายถึงตรวจพบโควิด) จึงส่งต่อเข้ารับการรักษาที่ รพ.หาดใหญ่
  • 7 ม.ค. 65  ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ รพ.หาดใหญ่ แพทย์เก็บตัวอย่าง NPS ส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ รพ.หาดใหญ่ ผลพบเชื้อโควิด โดยผู้ป่วยมีไข้ 38.5 องศา ไอ หายใจลำบาก แพทย์รับไว้ที่แผนก CICU เอ็กซเรย์ปอด พบปอดอักเสบ จ่ายยา Dexamethasone และ Remdesivir
  • 8 ม.ค. 65  ผู้ป่วยเสียชีวิต เวลา 09.20 น. ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ ผลพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

เปิดไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 รายแรกของไทย ผู้ป่วยติดเตียงทั้งคู่

ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี รายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอีกรายเป็นเพศหญิง อายุ 84 ปี ภูมิลำเนา อ.กุดจับ จ.อุดรธานี มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน มีประวัติเสี่ยงจากครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19

 

สำหรับไทม์ไลน์ มีดังนี้

  • 9 ม.ค. 65 ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของลูกชายที่ติดเชื้อโควิด
  • 10 ม.ค.65 ผลตรวจพบเชื้อ แต่ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาใน รพ. แพทย์จึงอนุญาตให้เข้าระบบ Home Isolation โดยได้จ่ายยาฟาร์วิพิราเวียร์ จัดเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วให้ โดยก่อนเสียชีวิต ลูกชายที่ดูแลแจ้งว่า ก่อนติดเชื้อโควิด ค่าออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ที่ระดับ 86-90% ผู้ป่วยไม่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่หอบ
  • 11-12 ม.ค.65 ออกซิเจนปลายนิ้ว อยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้
  • 13-14 ม.ค.65 ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ไม่มีหายใจหอบ  ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้วที่ 86-87%
  • 15 ม.ค.65 ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบ ค่าออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 76% ประสานผู้ป่วยนำส่ง รพ. แต่ญาติยังปฏิเสธการรับการรักษาใน รพ. แพทย์ให้เพิ่มยาฟาร์วิพิราเวียร์จาก 5 วัน เป็น 10 วัน และเพิ่มมอร์ฟีน จากนั้นเวลา 16.00 น. ผู้ป่วยตอบสนองได้น้อยลง หายใจหอบลึก คลำชีพจรไม่ได้ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลา 19.45 น. รวมระยะเวลารักษา Home Isolation 6 วัน