ข่าวดี ยาตำรับสมุนไพร "ห้าราก-ประสะเปราะใหญ่" ยับยั้งเชื้อโควิดได้

14 ม.ค. 2565 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 22:42 น.

ข่าวดี ยาตำรับสมุนไพรลดไข้ "ห้าราก-ประสะเปราะใหญ่" สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ กรมวิทย์ฯ เตรียมศึกษาการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยก่อนนำไปใช้

จากกรณีที่มีกระแสความต้องการใช้สมุนไพร เช่น ยาตำรับห้าราก และยาตำรับประสะเปราะใหญ่เพื่อใช้ในการช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการจากการติดเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่องนั้น ความเคลื่อนไหวล่าสุดวันนี้ 14 มกราคม 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยสมุนไพร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตาของยาตำรับห้าราก และยาตำรับประสะเปราะใหญ่ ซึ่งได้รับอนุเคราะห์ตำรับจากสมาคมเวชกรรมไทย โดยนำสารสกัดยาตำรับทั้ง 2 ในขนาดที่ไม่มีความเป็นพิษในเซลล์เพาะเลี้ยงมาบ่มกับเชื้อไวรัสในหลอดทดลอง และนำเชื้อไวรัสไปทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยง

ผลการทดสอบเบื้องต้น พบว่า ยาตำรับห้ารากที่สกัดด้วยน้ำ มีค่าการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 96.23 ที่ความเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (มก./มล.) 

ส่วนยาตำรับประสะเปราะใหญ่ที่สกัดด้วยน้ำ มีค่าการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 76.56 ที่ความเข้มข้น 10 มก./มล. ยาตำรับประสะเปราะใหญ่ที่ทำการสกัดด้วยตัวทำละลายที่เป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 50 มีค่าการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 88.70 ที่ความเข้มข้น 2.5 มก./มล. 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ตำรับยาห้าราก ตำรับยาประสะเปราะใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมในบัญชียาหลักแห่งชาติ     

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ปัจจุบันประชาชนสามารถหาซื้อยาตำรับทั้ง 2 มารับประทานเองได้ ตามอาการของโรค และควรรับประทานตามข้อบ่งใช้และขนาดที่ระบุตามรายละเอียดในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนการนำไปใช้สำหรับรักษาโรคโควิด 19 ควรรอผลการศึกษาวิจัยให้แน่ชัดเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย

ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเร่งวิจัยและพัฒนาสมุนไพรทั้ง 2 ตำรับ ทั้งในด้านการศึกษาการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันก่อนการติดเชื้อไวรัส ฤทธิ์และกลไกการออกฤทธิ์ในการต้านการติดเชื้อไวรัส ตลอดจนศึกษาความปลอดภัยของยาตำรับ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรสำหรับใช้เป็นยารักษาโรคโควิด 19 ต่อไป