โควิดจะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องรู้

12 ม.ค. 2565 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 19:03 น.
6.5 k

โควิดจะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น" มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราต้องรู้บ้าง ขณะที่ WHO เตือนไม่ควรนิ่งนอนใจ ที่จะมองว่า โควิด-19 ได้กลายเป็น โรคประจำถิ่น เหมือนกับไข้หวัดใหญ่

"โควิด 19" จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” เริ่มถูกพูดถึงกันในวงกว้างมากขึ้น ขณะที่วานนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือน ว่า ประเทศต่างๆไม่ควรนิ่งนอนใจ ที่จะมองว่า โควิด-19 ได้กลายเป็น โรคประจำถิ่น เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ แทนที่จะมองว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ในวงกว้าง เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ

ทางด้าน กระทรวงสาธารณสุขของไทยโดย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงหลักการพิจารณาว่าให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศใดว่าต้องพิจารณาจากปัจจัย

โควิดจะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องรู้  

  1. เชื้อลดความรุนแรง (ปัจจุบันความรุนแรง อัตราป่วยตายโรคโควิด 19 ลดลงเหลือ เสียชีวิต ~ 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย)
  2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เช่น การฉีดวัคซีน การติดเชื้อก่อนหน้า
  3. ประเทศนั้นๆ มีระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุม/ชะลอการระบาดได้อย่างดี (ตัวอย่างที่ดีในประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศ)

สรุปได้ว่า “โรคประจำถิ่น” เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะบริเวณพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาอัตราการติดเชื้อได้ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์

 

โควิด-19 จะปรับเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือไม่

ไม่ใช่เกิดจากตัวเชื้อหรือระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนในการร่วมเดินหน้ารับมือให้โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เช่น การป้องกันตนเองสูงสุด มาตราการสำคัญ และรับการ)รับการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งระดับบุคคลและประเทศ 

 

การระบาดของโรคติดต่อ มี 4 ระดับ

  1. Endemic (โรคประจำถิ่น) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา
  2. Outbreak (การระบาด) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งในกรณีโรคประจำถิ่น แต่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือในกรณีโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว
  3. Epidemic (โรคระบาด) เป็นการระบาดของโรคที่แพร่กระจายกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งโรคระบาดที่แผ่ไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้นนั้นเป็นการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่ระบาดในทวีปแอฟริกาตะวันตกในปี 2557-2559
  4. Pandemic (การระบาดใหญ่/ทั่วโลก) หรือ ระดับการระบาดสูงสุด เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 (Spanish flu) หรือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของ COVID-19 ในอย่างน้อย 122 ประเทศทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการแพร่ระบาดถึงขั้นสูงสุดของการระบาดแล้ว โรคระบาดเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดตามฤดูกาลของประเทศต่อไป ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้