วัคซีนโควิดเข็ม 4 กลุ่มไหนต้องฉีด ใครได้ก่อน ตรวจสอบที่นี่

07 ม.ค. 2565 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 17:22 น.
9.3 k

การเเพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนยังน่าเป็นห่วง หลายคนที่ฉีดวัคซีนโควิดครบ 3 เข็ม อาจสงสัยว่าเเล้ว วัคซีนโควิดเข็ม 4 กลุ่มไหนต้องฉีด ใครได้ก่อน ตรวจสอบที่นี่

โควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ล่าสุดวานนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาด จากเดิมที่ระดับ 3 เป็น "ระดับ 4" เพื่อเตรียมออกมาตรการสกัดการระบาด อาทิ การปิดสถานที่เสี่ยง และชะลอการเดินทางนั้น  ขณะที่ ศบค. รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวน 5,775 ราย

สำหรับคนที่วัคซีนโควิดครบ 3 เข็ม อาจมีคำถามว่าวัคซีนโควิดเข็ม 4 จะต้องฉีดเมื่อไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่ และกลุ่มไหนคือกลุ่มแรกที่จะได้ฉีด

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเปลายเดือนธันวาคม 2564  กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับวัคซีนเข็มที่ 4 ทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้ากลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน

ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้กรุงเทพมหานครมีฐานข้อมูลการให้บริการและสถานที่ฉีดเดิมอยู่แล้ว หากจะเริ่มดำเนินการและมีประกาศแนวทางจากกรมควบคุมโรค กทม. สามารถจัดสรรวัคซีนไปยังหน่วยงานที่ให้บริการและวางแผนการฉีดวัคซีนได้ทันที

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า คณะอนุกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นหลักก่อน โดยกลุ่มทั้งหมดดังกล่าวต้องได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้วเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป

 

ส่วนประชาชนทั่วไป ที่ฉีดครบ 3 เข็มแล้ว อาจยังไม่ต้องฉีด เข็ม 4 แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ "โอมิครอน"  หลักการในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น หากฉีดในระยะเวลาติด กับเข็มก่อนหน้า ภูมิคุ้มกันจะไม่ขึ้น หรือขึ้นไม่ดี แต่หากฉีดในระยะเวลาที่ห่างกัน ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นได้ดีกว่า

 

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีรพงษ์ ตัณฑวิเชียร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษากำหนดให้ฉีดวัคซีนโควิดห่างกัน 4 สัปดาห์ แต่หากฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็น mRNA พบว่าหลังจากฉีด 7 วันก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ดังนั้นอาจยังไม่ต้องฉีดเข็ม 4 

 

หากจะฉีดเข็ม 4 ควรเว้นระยะห่าง 3-6 เดือนข้างหน้า (กรณีที่ไม่มีสายพันธุ์ใหม่ระบาด) แต่ทั้งนี้การเว้นระยะห่างเสี่ยงกับการติดเชื้อระหว่างทาง จึงไม่อยากให้ห่างมากนัก ซึ่งต้องดูสถานการณ์ของโรคควบคู่กันไป

 

การบริหารจัดการวัคซีนโควิดตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดที่ผ่านมา คือ

  • ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ให้สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกสูตร ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม  แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ หรือซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า กรณีอายุ 18 ปีขึ้นไป และสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้อายุ 12-17 ปีเป็นหลัก
  • ผู้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เป็นไปตามกำหนดที่นัดหมายไว้
  • ผู้ที่ต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ ส.ค.-ต.ค. 2564 พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก ผู้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มช่วง ส.ค.-ต.ค. 2564 พิจารณาฉีดด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่รับเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อและต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้ในผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์หรือครบเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ

 

ส่วนแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโควิดกลุ่มพิเศษ เช่น กลุ่มภูมิต้านทานไม่ค่อยดี ผู้ที่รับประทานยากดภูมิ หรือกลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ ควรได้เข็ม 3 กระตุ้นห่างจากเข็ม 2 ในเวลา 1 เดือน กลุ่มนี้จะสามารถเข้ารับวัคซีนตามแนวทางได้ที่โรงพยาบาลที่ตนเองรักษา ซึ่งโรงพยาบาลนั้นๆ จะมีข้อมูลอยู่ ให้ติดต่อดำเนินการตามแนวทางได้ทันที