"โอมิครอน" ทำไมระบาดเร็ว ติดซ้ำได้มากแค่ไหน ดื้อต่อวัคซีนกี่เท่า เช็กเลย

30 ธ.ค. 2564 | 13:18 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2564 | 20:18 น.
5.1 k

โอมิครอน ทำไมระบาดเร็ว ติดซ้ำได้มากแค่ไหน ดื้อต่อวัคซีนกี่เท่า เช็กเลย หมอธีระเผยผลวิจัยทั่วโลกพบมีปริมาณไวรัสสูงในโพรงจมูก ชี้ลุกลามแล้ว 121 ประเทศทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
30 ธันวาคม 2564 ทะลุ 284 ล้านไปแล้ว 
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,522,377 คน ตายเพิ่ม 6,681 คน รวมแล้วติดไปรวม 284,799,551 คน เสียชีวิตรวม 5,437,930 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สเปน และอิตาลี 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 92.28% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.46%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 56.04% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 56.68% 
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สำหรับสถานการณ์ไทย
ระบบรายงานจำนวน ATK ของ DDC ปิดปรับปรุง จึงไม่มีรายงานให้สาธารณะได้ทราบว่าจำนวนมีมากน้อยเพียงใด 
ลำพังตัวเลขรายงานติดเชื้อในแต่ละวัน เมื่อวาน 2,575 คน ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างละเอียดพอ
ดังจะสังเกตได้จากหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการรายละเอียดชัดเจนทั้งจำนวนการตรวจจริงของแต่ละวิธี จำนวนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อในแต่ละวิธี ทั้ง RT-PCR และ ATK รวมถึงอัตราการตรวจพบของแต่ละวิธีในแต่ละวัน ซึ่งการให้ข้อมูลลักษณะนี้จะช่วยให้คนในสังคมรู้เท่าทันสถานการณ์ และตระหนักถึงความสำคัญในการประพฤติปฏิบัติ ดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง

โอมิครอนระบาดไปแล้วถึง 121 ประเทศทั่วโลก
ยามวิกฤติยิ่งจำเป็นต้องให้คนในสังคมทราบรายละเอียดให้มากและทันต่อสถานการณ์ 
อัพเดต Omicron (โอมิครอน)
ข้อมูลจาก BNO พบว่าตอนนี้มีการระบาดไปแล้วถึง 121 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการขยายวงอย่างรวดเร็วเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากที่พบสายพันธุ์ Omicron

แล้วการระบาดของ Omicron ทำไมจึงเร็วเช่นนี้?
จากการวิจัยต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เราทราบแล้วว่า Omicron แพร่ไวกว่าเดิม 4.1 เท่า, ติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม 3 เท่า, แบ่งตัวในหลอดลมมากกว่าสายพันธุ์เดิม 70 เท่า แต่แบ่งตัวในเซลล์ปอดน้อยกว่าเดิม 10 เท่า, ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน 20-40 เท่า และดื้อต่อการรักษาด้วยโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิด
Garrett N และคณะ จากแอฟริกาใต้ เผยแพร่ผลการวิจัยใน medRxiv วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ช่วยให้เข้าใจอีกสาเหตุสำคัญที่น่าจะทำให้ Omicron แพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม 
โดยงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า การระบาดของ Omicron ในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มที่ทำให้คนติดเชื้อแบบไม่มีอาการ (Asymptomatic carriage) มากกว่าเดลตาหลายเท่า โดยการติดเชื้อแบบไม่มีอาการนั้นตรวจพบว่ามีปริมาณไวรัสสูงในโพรงจมูกและน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า Omicron แพร่อย่างรวดเร็วกว่าเดิม เพราะมีกลุ่มคนติดเชื้อแบบไม่มีอาการมากขึ้น และแพร่ให้คนอื่นๆ ระหว่างการดำรงชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ
ส่วนเรื่องความรุนแรงของโรคที่ดูจะลดลงจากการดูสถิติหลายประเทศทั่วโลกในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยรุนแรงและจำนวนการเสียชีวิตนั้น มีการอธิบายด้วยเหตุผลคือ Omicron ระบาดในช่วงที่ประชากรจำนวนไม่น้อยที่มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะมาจากวัคซีน หรือจากการติดเชื้อมาก่อน ทำให้พอติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสป่วยรุนแรงลดลงกว่าเดิม นอกจากนี้ในแง่ของตัวไวรัสเอง ก็ได้รับการศึกษาแล้วชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีความรุนแรงลดลงด้วย (intrinsic severity) บางรายงานคาดว่าราว 2-12% และมีงานวิจัยอีกอย่างน้อย 5 ชิ้นใน 4 ประเทศ ที่ศึกษาในหลอดทดลอง และในสัตว์ (หนูแฮมสเตอร์) ที่พบว่า Omicron ติดเชื้อในเซลล์ปอดได้น้อยกว่าสายพันธุ์เดิม 

ปัจจัยที่ทำให้โอมิครอนระบาดเร็ว
ทั้งนี้ในเรื่องความรุนแรงของโรค จำเป็นต้องติดตามศึกษาในมนุษย์อย่างละเอียดเพียงพอเสียก่อน จึงจะสามารถสรุปได้ คงต้องรอติดตามความรู้ที่จะออกมากันต่อไป
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ
ป้องกันตัวเองและครอบครัว ใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงตะลอนท่องเที่ยว เลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์กับคนนอกครอบครัว หากมีอาการไม่สบายคล้ายหวัด ให้นึกถึงโควิดด้วยและรีบไปตรวจ