“ศิริราช” ปลื้ม WHO อ้างอิงผลวิจัยวัคซีนโควิด สูตรไขว้ เข็มกระตุ้นที่ 3

28 ธ.ค. 2564 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2564 | 20:56 น.

“ศิริราช” ปลื้ม WHO อ้างอิงผลวิจัยวัคซีนโควิด สูตรไขว้ เข็มกระตุ้นที่ 3 เผยเเพร่ทั่วโลก ในการใช้วัคซีนเชื้อตาย ตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA เข้าไปด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ลงพิมพ์ Interim recommendations for heterologous COVID-19 vaccine schedules ใน Interim guidance โดยเผยคำแนะนำเบื้องต้นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบต่างชนิดกัน หรือวัคซีนสูตรไขว้ ทั้งการใช้วัคซีนต่างชนิดกันในเข็มที่สอง หรือเป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเข็มที่ 3

โดยอ้างอิงเอกสารการศึกษาจากทั่วโลก รวมถึงข้อมูลการศึกษาวิจัยของประเทศไทย ในการใช้วัคซีนเชื้อตาย ตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA เข้าไปด้วย ซึ่งหนึ่งในข้อมูลสนับสนุนดังกล่าวนี้ มาจากผลการศึกษาวิจัยในโครงการการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 : Booster Study โดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ SICRES (Siriraj Institute of Clinical Research) เปิดเผยว่า การที่องค์การอนามัยโลกอ้างอิงเอกสารงานวิจัยของประเทศไทย เช่น จากศิริราชและจุฬา เป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่า งานวิจัยนั้นก่อให้เกิดประโยชน์นำไปสู่ความรู้ และทำให้มาตรฐานการดูแลและป้องกันโรคดีขึ้น และสำหรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นสูตรไขว้ที่ทำการศึกษาในประเทศไทย ทำให้เห็นตัวอย่างของการใช้วัคซีนที่หลากหลาย เป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายประเทศที่ไม่ได้มีเฉพาะวัคซีน mRNA เหมือนในยุโรป หรืออเมริกา

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดในช่วงแรกจากศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เป็นการศึกษาในอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม พบว่าหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงแต่น้อยกว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม โดยเฉพาะเมื่อเทียบการทดสอบการต้านไวรัสเดลต้า

“ศิริราช” ปลื้ม WHO อ้างอิงผลวิจัยวัคซีนโควิด สูตรไขว้ เข็มกระตุ้นที่ 3

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในผู้ที่เคยฉีดซิโนแวค 2 เข็มมีจำนวนมาก และแม้แต่ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าสองเข็ม ก็มีระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงมากหลังจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จึงเป็นที่มาของการศึกษาใช้วัคซีนชนิดต่างๆ มาฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ซึ่งก็พบว่า หากใช้วัคซีนต่างชนิดจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า  นอกจากนี้เรายังศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของการฉีดวัคซีนสองเข็มแรก ด้วยการฉีดสลับเข็มไขว้ในเข็มที่หนึ่งและสองด้วยวัคซีนที่มีในประเทศ ระหว่างวัคซีนเชื้อตาย ตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ (ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า), วัคซีนเชื้อตาย ตามด้วย mRNA (ซิโนแวค + ไฟเซอร์), ไวรัสเวกเตอร์ตามด้วย mRNA (แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์) และไวรัสเวกเตอร์ตามด้วยวัคซีนเชื้อตาย (แอสตร้าเซนเนก้า +ซิโนแวค)

 

ซึ่งการศึกษาของเราพบว่าการใช้วัคซีนต่างชนิดสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการใช้วัคซีนเชื้อตายเพียงอย่างเดียวฉีดทั้งสองเข็ม ในขณะที่ผลของการฉีดวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ ตามด้วยวัคซีน mRNA สามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการใช้วัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม แต่การใช้วัคซีนเชื้อตายหลังจากการฉีดวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่สูง

 

รศ.พญ.ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย  สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยโครงการการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 : Booster Study กล่าวว่า คำแนะนำการใช้วัคซีนสูตรไขว้ในเข็มที่ 3 ที่ องค์การอนามัยโลก อ้างอิงการศึกษาโดยศิริราชนั้น เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนกระทั่งถึงธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทย ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยฉีดวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ด้วยวัคซีนที่หลากหลายชนิด เนื่องจากขณะนั้นเริ่มมีข้อมูลแล้วว่า ชนิดวัคซีนที่ต่างไปจากวัคซีนเดิมที่เคยได้รับน่าจะมีประสิทธิภาพหรือระดับภูมิคุ้มกันที่ขึ้นได้ดีกว่า

“ศิริราช” ปลื้ม WHO อ้างอิงผลวิจัยวัคซีนโควิด สูตรไขว้ เข็มกระตุ้นที่ 3

จึงได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ทำการศึกษาโดยแบ่งการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ แอสตร้าเซเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์เต็มโดส และไฟเซอร์ครึ่งโดส

 

ยกตัวอย่าง ในอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว 2 สัปดาห์ มีภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 230 BAU/mL เมื่อเวลาผ่านไป 12 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันลดลงเหลือ 33 BAU/mL และเมื่อฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ผ่านไป 2 สัปดาห์ ด้วยวัคซีน 4 กลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 5,152 BAU/mL, ไฟเซอร์ครึ่งโดส ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 3,981 BAU/mL, แอสตร้าเซเนก้าอยู่ที่ 1,358 BAU/mL ขณะที่ซิโนฟาร์ม อยู่ที่ 155 BAU/mL ส่วนในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนแอสตร้ามาก่อน 2 เข็ม หากฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ได้ระดับภูมิคุ้มกันเพียง 246 BAU/mL และกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ได้ภูมิอยู่ที่ 129 BAU/mL แต่หากใช้วัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส จะได้ระดับอยู่ที่  2,377 BAU/mL และไฟเซอร์ครึ่งโดสจะได้ระดับที่1,962 BAU/mL ซึ่งนับว่าสูงกว่ามาก

ทีมวิจัยจึงเสนอคำแนะนำไปยังกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ถึงการฉีดกระตุ้นเข็มสามในสูตรต่างๆ พร้อมลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารล่วงหน้าแบบ pre-print ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เห็นผลงานชิ้นนี้ จึงหยิบไปอ้างอิงเรื่องการใช้วัคซีนต่างชนิดมาเป็นเข็มที่ 3 โดยพบว่าภูมิคุ้มกันที่เพิ่มสูงขึ้นยังปกป้องสายพันธุ์กลายพันธุ์ทั้งเดลตาและเบตาได้ดีอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ ได้ติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม และตรวจระดับภูมิคุ้มกันเมื่อเวลาผ่านไปเป็นระยะเวลานานประมาณ 4-5 เดือนหลังเข็มที่สาม พบว่าระดับภูมิคุ้มกันตกลงมากประมาณ 5-10 เท่าเมื่อเทียบกับหลังฉีดที่ 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เราทราบว่า เมื่อมีเชื้อกลายพันธุ์ระบาด อาจจะต้องเริ่มให้มีการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 ในบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับซิโนแวค- ซิโนแวค - แอสตร้า หลังเข็มสุดท้ายนานกว่า 3 เดือน

 

ผศ.ดร.พญ.สุวิมล  นิยมในธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนชนิดวัคซีนที่หลากชนิดหลายรูปแบบจะทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายเก่งขึ้น อย่างไรก็ดี คุณสมบัติของวัคซีนก็มีความสำคัญ เนื่องจากคณะวิจัยพบว่า หากกระตุ้นเข็มที่สามด้วยวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งในการศึกษานี้ใช้วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ผลการศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันไม่เพิ่มขึ้น หรือผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มสองด้วยไวรัสเวกเตอร์ แล้วกระตุ้นเข็มที่สามด้วยเชื้อตาย ภูมิคุ้มกันก็ไม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมถึง การฉีดไวรัสเวกเตอร์ทั้งสามเข็ม ระดับภูมิคุ้มกันก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ การศึกษาของเรายังพบว่า การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นสูตรไขว้เข็มที่สามนี้ แม้ใช้เพียงครึ่งโดสก็ให้ผลดีมาก

“ศิริราช” ปลื้ม WHO อ้างอิงผลวิจัยวัคซีนโควิด สูตรไขว้ เข็มกระตุ้นที่ 3

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยคลินิกมีอีกหลายโครงการเกี่ยวกับโควิด-19 ที่กำลังรอการตีพิมพ์ เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้ในหญิงตั้งครรภ์ การฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่น และการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal) สำหรับผู้สูงวัย 

ที่มา : sirirajpr