"โอมิครอน" อาการแบบไหนมากสุด แพร่เชื้อเร็วแค่ไหน ป้องกันอย่างไร เช็กเลย

28 ธ.ค. 2564 | 07:31 น.
16.0 k

โอมิครอน อาการแบบไหนมากสุด แพร่เชื้อเร็วแค่ไหน ป้องกันอย่างไร เช็กเลย หมอเฉลิมชัยแนะปีใหม่ต้องระมัดระวัง เฉลิมฉลองทางสายกลาง ในกลุ่มคนให้มีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไทยพบ Omicron รวม 514 ราย เพิ่ม 2 เท่า ทุก 3 วัน จาก 97 ราย เป็น 514 ราย ภายใน 6 วัน เป็นไปตามสถิติของต่างประเทศ
วันที่ 27 ธ.ค. 2564  ศบค.ได้แจ้งยอดผู้ติดโควิดไวรัสสายพันธุ์ Omicron (โอมิครอน) ว่ามียอดสะสมรวม  514 รา ยใน 10 จังหวัด
โดย 2/3 เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และ 1/3 เป็นผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสกันเองภายในประเทศ
โดย 10 จังหวัดนั้นประกอบด้วยกาฬสินธุ์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา ปัตตานี และลำพูน
โดยคลัสเตอร์ใหญ่สุด เป็นคลัสเตอร์ที่เริ่มต้นจากคู่สามีภรรยาที่เดินทางมาจากประเทศเบลเยียม และไปทานอาหารที่จังหวัดกาฬสินธุ์
 

จนถึงปัจจุบัน คลัสเตอร์นี้มีผู้ติดโควิดรวมแล้วทั้งสิ้น 125 ราย รวมทั้งนักดนตรี พนักงานในร้านอาหาร ตลอดจนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านอาหาร
สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตราการระบาดหรือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น มีข้อมูลจากต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาว่า
เมื่อ Omicron เริ่มติดกันเองภายในประเทศแล้ว จะมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่า ทุก 3 วัน
เมื่อมาตรวจสอบตัวเลขของประเทศไทยดู 
จะพบว่า
วันที่ 20 ธันวาคม 2564 
มีผู้ติดเชื้อ 97 ราย
วันที่ 23 ธันวาคม 2564 
มีผู้ติดเชื้อ 205 ราย
เพิ่มขึ้น 2.1 เท่า ภายใน 3 วัน

โอมิครอนติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่าทุก 3 วัน

และในวันที่ 26 ธันวาคม
ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 514 ราย
เพิ่มขึ้นจากวันที่ 23 ธันวาคม
อีก 2.5 เท่า
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่าง จากที่พบในต่างประเทศ

จึงพอที่จะสรุปได้ว่า ไวรัส Omicron มีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวางมาก ขณะนี้แพร่ไปแล้ว 106 ประเทศ
โดยมีอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุก 3 วัน และมีระยะฟักตัวที่สั้นลงเหลือประมาณ 3.25 วัน
ประเด็นที่สำคัญก็คือ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวและได้รับวัคซีนแล้ว (ข้อมูลในต่างประเทศ) พบว่ามีอาการน้อยกว่าการติดเชื้อเดลตา
ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลค่อนข้างน้อย
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แม้ความรุนแรงจะน้อย อัตราการเสียชีวิตจะน้อย  ก็อาจจะเป็นภาระอย่างมากกับโรงพยาบาลในระบบสุขภาพได้ในที่สุด
สำหรับอาการเด่นของไวรัส Omicron ประกอบด้วย
ไอ 54% 
เจ็บคอ 37% 
ไข้ตัวร้อน 29% 
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 15% 
น้ำมูก 12% 
ปวดศีรษะ 10% 
หายใจลำบาก 5% 
ได้กลิ่นลดลง 2% 
(ข้อมูลเบื้องต้นจาก 41 ราย)
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับที่ 3 ในจำนวน 5 ระดับด้วยกัน
เพื่อเป็นการสร้างความตระหนัก และเตรียมพร้อม ในการรับมือไวรัส Omicron
ซึ่งแพร่ระบาดกว้างขวางรวดเร็ว แต่อาการไม่ค่อยรุนแรงมากนัก
การใส่หน้ากากอนามัยในทุกสถานที่เท่าที่สามารถจะทำได้ การหลีกเลี่ยงที่แออัดระบายอากาศไม่ดีและมีคนเป็นจำนวนมาก

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ลดอาการป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้
ยังคงเป็นมาตรการสำคัญที่สุด สามารถรับมือโควิดโดยเฉพาะไวรัส Omicron ได้อย่างดี
และการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ก็จะช่วยลดอาการป่วยที่รุนแรง ตลอดจนอัตราการเสียชีวิตลงได้
ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่นี้ ทุกคนก็คงอยู่ในบรรยากาศที่อยากพบปะญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง และมีการสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน ร้องเพลง เล่นเกม หรือแลกเปลี่ยนของขวัญกัน
ก็คงจะต้องระมัดระวัง โดยเฉลิมฉลองทางสายกลาง โดยฉลองในกลุ่มคนให้มีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เฉพาะญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทจริงๆ
และพยายามใส่หน้ากากตลอดเวลา ในจังหวะที่ต้องทานอาหาร ก็อาจจะต้องอยู่ห่างกัน
ทุกคนจึงควรร่วมมือร่วมใจในบทบาทหน้าที่ ที่ต่างคนต่างสามารถทำได้ เพื่อทำให้การระบาดโควิดระลอกที่ 4 จากไวรัสสายพันธุ์ Omicron มีผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ หลังปีใหม่จะได้ไม่ต้องมากังวล ว่าตนเองจะไปรับเชื้อโรคมาในการเฉลิมฉลองหรือไม่