ม็อบปี 64 จนท.ทำเกินเหตุ เสนอรัฐเยียวยาทุกกลุ่มที่กระทบ

24 ธ.ค. 2564 | 20:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2564 | 03:27 น.

กสม. เผยผลตรวจสอบกรณีการชุมนุมปี64 พบละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี จนท.ทำเกินกว่าเหตุ ผู้ชุมนุมบางกลุ่มใช้สิ่งเทียมอาวุธ เสนอรัฐเยียวยาผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบ

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประจำปี 2564 ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวเนื่องกับกรณีการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564 หลายคำร้อง ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 และ 18 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม 2564 อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยได้รับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ผู้พักอาศัยบริเวณรอบพื้นที่การชุมนุม และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

 

รวมทั้งจัดให้มีเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง และการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ร่วมกับตัวแทนผู้ชุมนุม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านสันติวิธี และนักจิตวิทยาเด็ก นอกจากนี้ยังได้เฝ้าระวังสถานการณ์และลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลงพื้นที่ไปติดตามการจับกุมผู้ถูกจับกุมเพื่อตรวจสอบและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย
 

จากการตรวจสอบ พบว่า การชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564 เป็นการรวมตัวของประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อแสดงความเห็นและมีข้อเรียกร้องปฏิรูปทางการเมืองควบคู่กับข้อเรียกร้องต่อมาตรการของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยมีรูปแบบการชุมนุมที่สำคัญ 3 รูปแบบ คือ

(1) การชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ

(2) การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ (Car Mob) และ “ไบก์ม็อบ” (Bike Mob)

(3) การชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน โดยการตรวจสอบมีประเด็นที่ กสม. ได้พิจารณาและมีความเห็น ดังนี้
           

1. การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม พิจารณาว่ามีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พบว่า การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) เพื่อจัดการและควบคุมการชุมนุมของรัฐบาล มีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะ (การป้องกันภัยทางสาธารณสุข) นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมและดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และกฎหมายอื่น ซึ่งถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม
 

ส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม พบว่า หลายกรณี เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนด้วยวิธีการไม่เหมาะสม เช่น ใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ยิงกระสุนยางในแนวสูงระดับศีรษะ หรือ ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement)

 

ขณะที่การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมนั้น หลายกรณีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี การขับรถยนต์ตัดหน้าเฉี่ยวชนหรือถีบรถจักรยานยนต์จนล้มลง

 

ซึ่ง กสม. เห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้วิธีการรุนแรงโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะการเข้าจับกุมเด็กและเยาวชน จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 

สำหรับการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะที่ถูกจับกุมในบางกรณีเยาวชนไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวาง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่สายรัดข้อมือ (Cable Tie) เป็นเครื่องพันธนาการ และยังปรากฏกรณีเยาวชนถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องหาผู้ใหญ่โดยไม่มีการแยกให้อยู่ในสถานที่พิเศษเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับหรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เช่น ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (ตชด. ภาค 1) ส่งผลให้ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหาเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ในทันที ขณะที่การดำเนินคดีบางกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ถูกจับกุม หรือไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติ ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
 

ในประเด็นการปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ถูกจับและควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันและมีประกัน และมีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลพฤติการณ์ในการกระทำความผิดครั้งหลังผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออาจมีการกระทำผิดซ้ำ กสม. เห็นว่า กรณีนี้แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของศาล แต่การพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวควรยึดหลักที่ว่าทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวนั้นต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อาญา. เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี
 

2. ความเห็นต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน แม้การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 จะอยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และไบก์ม็อบ (Bike Mob) ซึ่งเป็นการขับขี่ยานพาหนะไปตามเส้นทางต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งไม่ปรากฏการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น

 

ส่วนกรณีที่มีเหตุใช้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมยุติหรือเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและไม่มีจุดประสงค์ในการใช้ความรุนแรง การชุมนุมทั้งสองรูปแบบนี้จึงถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ดี รูปแบบการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนอย่างชัดเจนโดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิ่งเทียมอาวุธตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและมิใช่การชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและได้สัดส่วน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน
           

3. ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหายจากสถานการณ์การชุมนุม เห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ แม้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 13 มิถุนายน 2560 จะกำหนดให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำกฎหมายหรือระเบียบ เงื่อนไขและวิธีการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้
           

4. ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องการใช้กำลังในการควบคุมดูแลการชุมนุม และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง กสม.ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งหน่วยงานเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะของ กสม.
           

จากผลการตรวจสอบและความเห็นข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้
           

ในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องงดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและหลักสากล รวมทั้งต้องจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหลีกเลี่ยงการกระทำ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
           

ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง ไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป

 

และควรมอบหมายกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางในการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณีรวมทั้งกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองโดยเร็ว

 

ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมการชุมนุมกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ โดยการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต้องให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว ให้สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครอง และควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขังด้วย
           

พร้อมกันนี้ กสม. มีข้อเสนอแนะต่อการจัดการชุมนุม ซึ่งต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและความปลอดภัยของบุคคลอื่น รวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายในการชุมนุม และการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเหตุอื่น โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล