อย่าหลงเชื่อ “กรมขนส่ง” เตือนซื้อ-ขาย ป้ายแดงปลอม ผิดกฎหมาย

26 พ.ย. 2564 | 17:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2564 | 00:13 น.
645

“กรมขนส่ง” ย้ำ ซื้อ-ขาย “ป้ายแดงปลอม” ผิดกฎหมาย เผยมีโทษจำคุกถึง 5 ปี แนะวิธีสังเกตป้ายแดงของแท้ แบบง่ายๆหวั่นโดนหลอก

นางพรรณี พุ่มพันธ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมฯพบการประกาศขายป้ายแดง พร้อมสมุดคู่มือประจำรถใช้กับเครื่องหมายพิเศษ ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็น “ป้ายแดงปลอม” ที่ไม่ได้ออกให้โดยกรมฯ ทั้งนี้ป้ายแดงที่ถูกต้องอยู่ในความครอบครองของบริษัทผู้จำหน่ายรถที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายป้ายแดง จึงขอย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อป้ายแดงที่มีการประกาศขายดังกล่าว เนื่องจากการนำป้ายแดงปลอมไปติดที่รถจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เข้าข่ายความผิดฐานใช้เอกสารทางราชการปลอม มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

 

 


“การใช้รถป้ายแดงเป็นระยะเวลานาน โดยไม่นำรถไปจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีให้ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ฐานใช้รถโดยไม่จดทะเบียน มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งหากรถเกิดอุบัติเหตุ หรือถูกโจรกรรมรถยนต์จะยากต่อการติดตามตรวจสอบ จึงแนะนำให้ผู้ที่ซื้อรถใหม่รีบนำรถมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง ณ กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดที่ประสงค์จดทะเบียนรถโดยเร็ว” 

 สำหรับวิธีการสังเกตป้ายแดงที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น สามารถสังเกตได้จากตัวย่อนูน ขส ที่มุมด้านล่างขวา ต้องมีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก (รูปมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า) ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่กำหนดไว้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกออกให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถสำหรับใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น โดยแต่ละบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจะมีหมวดและหมายเลขป้ายแดงหมุนเวียนโดยต้องใช้คู่กับสมุดคู่มือประจำรถและใบอนุญาตให้ใช้รถด้วย ไม่ใช่ป้ายทะเบียนส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะนำไปจำหน่ายต่อได้ 

 

 

 


ทั้งนี้กรมฯมีระบบบริการใบอนุญาตเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) สำหรับผู้จำหน่ายรถหรือตัวแทนจำหน่าย ในการรายงานข้อมูลการใช้เครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) และตรวจสอบเครื่องหมายฯ โดยบันทึกข้อมูลการใช้เครื่องหมายฯ เมื่อส่งมอบรถให้กับผู้ซื้อประกอบด้วย หมายเลขเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ยี่ห้อรถ หมายเลขตัวรถ หมายเลขเครื่องยนต์ เลขที่ใบอนุญาต หมายเลขสมุดประจำรถ วันที่อยู่ในความครอบครองของผู้ซื้อรถ ข้อมูลผู้ซื้อ และวันที่ต้องจดทะเบียนรถ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกระบวนงานให้บริการแบบออนไลน์ (e-Service) เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานะการครอบครองป้ายแดงผู้จำหน่ายรถหรือตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการใช้ป้ายแดงปลอมได้ 
 

อย่าหลงเชื่อ “กรมขนส่ง” เตือนซื้อ-ขาย ป้ายแดงปลอม ผิดกฎหมาย