รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ซุ่มเจรจานำเข้าวัคซีน 15 ล้านโดส

13 พ.ย. 2564 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 16:53 น.
1.5 k

“รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิม พระเกียรติ” เดินหน้านำเข้าวัคซีน 15 ล้านโดส เผยจับมือพันธมิตรรพ.เอกชน สั่งซื้อโมเดอร์นา 2 ดีลรวม 5 ล้านโดส นำเข้าในไตรมาส 4/2564 และวัคซีนโปรตีน เบสอีก 10 ล้านโดสในปี 2565 รวมทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ หวังเปิดกว้างประชาชนเข้าถึงและลดการติดเชื้อโควิด-19

วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือกที่เปิดกว้างให้องค์กร, หน่วยงาน, ภาคเอกชนสามารถนำเข้ามาให้บริการกับประชาชนคนไทยได้ โดยวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อ ได้รับวัคซีนลอตแรกแล้วจำนวน 5.6 แสนโดส ส่วนลอตที่เหลือจะทยอยส่งมอบจนครบ 1.9 ล้านโดส ตามออร์เดอร์ที่สั่งซื้อไว้

 

รวมทั้งยังมีลอตบริจาคจาก US Department of Health and Human Services ประเทศสหรัฐฯที่บริจาคให้กับรัฐบาลไทยอีก 1 ล้านโดส และยังมีอีก 5 ล้านโดส ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ทำสัญญาจัดหา เพื่อนำมาฉีดให้กับคนไทยในกลุ่มที่เข้าถึงวัคซีนลำบากและมีความเสี่ยงสูง

วัคซีนโมเดอร์นา

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกประกาศใช้ข้อบังคับในการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โรงพยาบาลจึงให้ความสำคัญและเดินหน้าทั้งด้านการจัดหาวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ควบคู่กันไป

 

โดยในด้านของวัคซีนรพ.ยังมีแผนจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาอีก 5 ล้านโดส แบ่งเป็น 2 ดีล คือ ดีลที่ 1 จำนวน 3 ล้านโดส และดีลที่ 2 จำนวน 2 ล้านโดสโดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 2 ราย เบื้องต้นได้ดำเนินการเซ็นสัญญาจัดหาแล้ว คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงและนำเข้าได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งหากข้อตกลงทุกอย่างสำเร็จและวัคซีนพร้อมส่งถึงประเทศไทย จะเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ อีกครั้ง

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม

นอกจากนี้รพ. ยังจับมือกับพันธมิตรในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนชนิดโปรตีน เบส (Protein-nanoparticle Vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อยู่ในระหว่างการวิจัยเฟส 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับการอนุมติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ในเร็วๆ นี้อีกจำนวน 10 ล้านโดส ซึ่งหากวัคซีนได้รับการอนุมัติ รพ. สามารถนำเข้ามาให้บริการได้ในปี 2565 โดยรพ.จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใหม่ทั้งหมด

 

“วัคซีนชนิดโปรตีน เบส มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งทั้งในเรื่องผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวว่ามีน้อยกว่าวัคซีน mRNA ขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อหรือเสียชีวิตใกล้เคียงกัน และราคาต่ำกว่า จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในปีหน้า ซึ่งขณะนี้หลายประเทศสนใจและเตรียมพร้อมสั่งจองแล้วเช่นกัน”

 

อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ในปีหน้าประเทศไทยจะมีวัคซีนจำนวนมากเพื่อฉีดให้กับคนไทย ทำให้ต้องมองหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมุ่งไปที่วัคซีนเจนเนอเรชั่นใหม่และบูสเตอร์โดส เพราะคนไทยยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามนโยบายในขณะนี้หากเป็นการฉีดซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า ยังต้องฉีดทุก 6 เดือน

 

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวอีกว่า อีกภารกิจของรพ. คือการจัดหายาต้านไวรัส “โมลนูพิราเวียร์” (Molnupiravir) ยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส ผลิตโดยบริษัท เมอร์ค ซึ่งขณะนี้สภามหาวิทยาลัยได้ผ่านความเห็นชอบในการนำเข้าแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการยื่นขออนุญาตต่ออย. ในการสั่งซื้อเพื่อนำเข้ามาวิจัย หากอย. อนุญาตก็สามารถนำเข้ามาได้ทันที

แผนนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา

และใช้เวลา 1 เดือนในการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลเบื้องต้นกับผู้ป่วยไวรัสหลังได้รับการติดเชื้อ แต่หากจะต้องทำการวิจัยในทุกขั้นตอนให้สำเร็จลุล่วง อาจจะต้องใช้เวลาราว 1 ปี อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์มีการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วที่ ประเทศอังกฤษ และอินโดนีเซีย

 

หากไทยได้รับการอนุมัติให้ใช้ยาได้ และมีผลวิจัยจากรพ. แบ็คอัพ ก็จะทำให้ภาครัฐมั่นใจยิ่งขึ้น“การนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ที่ได้เจรจาจัดหาครั้งนี้ จะมีราคาต้นทุนที่ 1,500-2,000 บาทต่อคอร์ส (40 เม็ด) ราคาจะถูกกว่าเดิมที่กำหนดไว้ 23,000 บาทต่อคอร์ส (40 เม็ด) จะทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อม หากเกิดการระบาดขึ้นอีก”