รพ.ธรรมศาสตร์ ตอบชัดสาเหตุดีลวัคซีน "โมเดอร์นา" บริจาคจากโปแลนด์ล่ม

04 พ.ย. 2564 | 11:43 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 18:49 น.
1.3 k

รพ.ธรรมศาสตร์ เคลียร์ชัดทุกประเด็น เบื้องลึกเบื้องหลังสาเหตุดิลวัคซีนบริจาคโปแลนด์ล่ม ผิดกฏหรือใครเสียหน้า? ยันไม่เคยรับแจ้งมาก่อน ชี้เหตุให้วัคซีนบริจาค1ล้านโดสแก่เอกชนจำหน่ายต่อราคาทุนเพราะการนำเข้ามีต้นทุนที่เอกชนควักกระเป๋าจ่ายให้ก่อน

ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงและตั้งข้อสังเกตุสำหรับ ดิลวัคซีนบริจาค 1.5 ล้านโดสจากโปแลนด์ ที่ได้ยุติดิลลงและไม่สามารถนำเข้าวัคซีนล็อตนี้ได้ ท่ามกลางการตอบโต้ไปมาระหว่าง ธรรมศาสตร์ และ กระทรวงการต่างประเทศ ล่าสุด รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ทางไทยพีบีเอส ว่า จุดเริ่มต้นของการดิลวัคซีนเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยอธิการบดีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งระบุว่สในสถานการณ์ฉุกเฉินทางธรรมศาสตร์มีอำนาจในการนำเข้าและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ covid 19 จึงเป็นที่มาในการดำเนินการในเรื่องการนำเข้าวัคซีนที่ถือเป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งถ้าจะพูดให้ตรงไปตรงมาคือจัดซื้อเข้ามาเพื่อบริการให้ประชาชนทั่วไปได้

หลักการของธรรมศาสตร์จะเป็นหลักการของการให้บริการฟรีในส่วนหนึ่งคือไม่เกิน 10 %ของวัคซีนที่นำเข้ามาทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนของทาง partner หรือหุ้นส่วนซึ่งก็คือผู้ที่สนับสนุนทางการเงินในการดำเนินการที่จะสามารถนำส่วนที่เหลืออีก 90% ไปดำเนินการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริการประชาชนโดยมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งถ้าจะกล่าวอ้างถึงก็เป็นวัคซีนตัวเลือกของรัฐบาล โมเดอร์นา ที่องค์การเภสัชกรรมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนต่างๆซึ่งก็จะเป็นสูตรที่คล้ายกัน

 

 

“ตามแผนธรรมศาสตร์จนถึงสิ้นปี 2564 นี้ มีแผนจัดสรรและนำเข้าวัคซีน ประมาณ 5 ล้านโดส ซึ่งเราก็ยังคงยืนยันในส่วนของการดำเนินการตรงนี้ แต่ถ้าเป็นการติดต่อตรงกับ โมเดอร์นา จะต้องเป็นไปตามคิวซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีคิวตรงนี้อยู่ เพราะฉะนั้นเราจะใช้การทำสัญญากับ โมเดอร์นา ก็อาจจะทำผ่านทางตัวแทนได้ยกตัวอย่างเช่น 5.6 แสนโดสที่เข้ามาไม่ได้มาจากโรงงานผลิตของโมเดอร์นา แต่เป็นการจัดหามาจากแหล่งที่อื่นๆเพราะหากรอการผลิตจะอยู่ที่ปีหน้า”

 

สำหรับวัคซีนที่เป็นปัญหาอยู่ ในระหว่างที่ธรรมศาสตร์ติดต่อมีเอกชนหลายรายที่ต้องการจะสนับสนุนและมีวัคซีนค่อนข้างหลากหลายชนิด ซึ่งเราตัดสินใจเลือกโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกเพราะมีความเป็นไปได้มากที่สุดและไม่ซ้ำซ้อนกับทางภาครัฐ โดยมีเอกชนคือ  เครือโรงพยาบาลธนบุรี  ติดต่อเสนอดิลวัคซีนบริจาคของโปแลนด์นี้ขึ้นมา

 

ในส่วนของปริมาณอาจจะมีการสับสนเล็กน้อยเบื้องต้นมีแผนดิลนำเข้า 3 ล้านโดส แต่ภายหลังมีการปรับลดเหลือ1.5 ล้านโดสเพื่อเป็นการทดลองและไม่เป็นภาระทางการเงินโดยมากเกินไป หลังจากนั้นได้แจ้งความประสงค์ขอรับบริจาควัคซีนไปยัง RARS โปแลนด์ รวมทั้งสอบถามถึงขั้นตอนการดำเนินการต่าง ในขณะเดียวกัน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเพื่อขอความร่วมมือและให้ข้อเสนอแนะแก่เรา ซึ่งตรงนี้ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีหนังสือออกมาที่เป็นข่าวใน social media ตรงนี้ก็เป็นความกรุณาของกระทรวงต่างประเทศในการที่จะชี้แนะ  และในส่วนของการเงินต้องอาศัยพาร์ทเนอร์เอกชน เพราะทางธรรมศาสตร์ไม่มีงบประมาณของตัวเองในการดำเนินการตรงนี้

 

“ในมุมของเรา เราอยากคุยให้จบก่อนว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก่อนที่จะประกาศออกไป แต่เมื่อมีข่าวออกมาทางสื่อโซเชียลแล้วก็ทำให้เราค่อนข้างที่จะมีปัญหาในการติดต่อประสานงาน 

และในส่วนของหนังสือชี้แจงจากกระทรวงต่างประเทศเราเห็นครั้งแรกพร้อมกับสื่อมวลชน จริงๆถ้าพูดถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนในเรื่องของวัคซีนที่จะเข้ามาโดยเฉพาะMRNA อย่าง โมเดอร์นา มาบริการกับประชาชน ในเรื่องของจุดประสงค์หลักตรงนี้ธรรมศาสตร์มีความชัดเจน เพียงแต่ว่าในเรื่องของดิลจะเห็นว่าเราไม่เคยประกาศหรือพูดออกไปจนกระทั่งถึง 31 ตุลาคมที่ออกมาบอกว่าดิลนี้ไม่สำเร็จและเราก็จบดิลตรงนี้ไป  

 

เพราะในเรื่องของกระบวนการและขั้นตอนมีความลับอยู่บางส่วน ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่แต่ละฝ่ายออกมาพูดเราก็มีความหนักใจอยู่พอสมควรซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ได้โทษใคร เราคิดว่าเป็น 3 ปาร์ตี้ที่ต้องร่วมมือกันระหว่างธรรมศาสตร์ เอกชนและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อที่จะได้วัคซีนเข้ามาทำประโยชน์ แต่ ณ วันที่ 31 ตุลาคมสรุปว่าดิลนี้เป็นไปไม่ได้และได้ยุติดิลตรงนี้”

 

สำหรับวัคซีนบริจาคจากโปแลนด์ 1.5 ล้านโดสเป็นวัคซีนที่บริจาค ณหน้าสถานที่เก็บหรือหน้าคลังของวัคซีนนั้น  ซึ่งจะมีค่าขนส่งจากทางโปแลนด์มาถึงประเทศไทย การเก็บรักษาและการกระจายวัคซีนรวมถึงค่าประกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีค่าใช้จ่ายเมื่อคำนวณออกมาต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อ 1 โดส ซึ่งภารกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จะเป็นเรื่องของการเรียนการสอน การวิจัย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีงบประมาณที่จะนำไปดำเนินการตรงนี้ นี่จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ไม่ว่าธรรมศาสตร์จะดำเนินการใดๆจะต้องมี partner หรือผู้สนับสนุนทางด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ธรรมศาสตร์ยืนยันว่า 1 ผลประโยชน์จะต้องตกกับประชาชนในการที่มีวัคซีนเข้ามา 2 คือราคาต้องสมเหตุผลอย่างน้อยประเทศไทยมีราคาที่สามารถอ้างอิงได้จากที่ทางองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าจุดนี้เป็นวัคซีนที่มีราคาต่ำกว่าหรือไม่เกินกว่าราคาที่องค์การเภสัชกรรมดำเนินการอยู่ ธรรมศาสตร์สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด


 

ทั้งนี้ในการบริหารวัคซีน ธรรมศาสตร์มีแผนน้ำวัคซีนจำนวน 500,000โดส มาบริการให้กับประชาชนฟรี และอีก1ล้านโดสจะให้กับเอกชนหรือเครือโรงพยาบาลธนบุรีในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงินนำไปดำเนินการต่อ ซึ่งธรรมศาสตร์ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ได้แจ้งกับกระทรวงการต่างประเทศไว้แล้ว ซึ่งข้อความที่ว่า ห้ามนำวัคซีนบริจาคไปจำหน่ายต่อ ถ้ากระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งเข้ามาก่อนวันที่ 31 ตุลาคมและมีการพูดคุยกันระหว่างธรรมศาสตร์ เอกชนและกระทรวงการต่างประเทศ รศ.นพ.พฤหัสคาดว่าน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ก่อนที่จะยุติสัญญานี้ไป

 

“เรายังไม่เคยได้รับการแจ้งมาก่อนว่า ไม่สามารถนำวัคซีนบริจาคนี้ให้เอกชนนำไปจำหน่ายต่อได้ เพราะเราได้ประสานไปกับทางกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าเราทราบจุดนี้ก็จะมีการหารือกันในข้อกังวลของกระทรวงต่างประเทศเราก็พร้อมจะมีการปรับหรือหารือกันในแนวทางอื่นและถ้าไม่ได้จริงๆเราก็พร้อมที่จะปิดดิลอยู่แล้ว 

 

แต่เรายืนยันว่าเราได้แจ้งว่าจะนำวัคซีนบริจาค 500,000 โดสบริการประชาชนฟรีและอีก 1 ล้านโดสให้กับเอกชนนำไปดำเนินการต่อกับทุกหน่วยงานรวมถึงโปแลนด์ แต่เราก็ยอมรับว่าเราไม่ได้รับหนังสือตอบกลับจากทางโปแลนด์ ซึ่งขั้นตอนนั้นเป็นขั้นตอนของการพูดคุยกันและยังไม่มีดิลที่สำเร็จเสร็จสิ้น

 

เราอยากจะเรียนกระทรวงต่างประเทศรวมทั้งพาร์ทเนอร์ ว่าอย่าเกี่ยงงอนกันเลยในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้เราน่าจะช่วยกันในการนำเข้าวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนเองจากเท่าที่การพูดคุยเขายินดีที่จะให้ความร่วมมือทั้งหมดกับทางธรรมศาสตร์ หรือแม้กระทั่งทางกระทรวงการต่างประเทศเมื่อมีข้อแนะนำใดๆมาเราก็พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตาม เพียงแต่ในเรื่องของการประสานงานและการพูดคุยเข้าใจว่าน่าจะต้องมีหน่วยงานที่พร้อมตัดสินใจซึ่งหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดก็คือกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล”

 

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตุว่า สาเหตุที่ดิลนี้ล่ม อาจมาหากธรรมศาสตร์สามารถนำเข้าวัคซีนล็อตบริจาคนี้เข้ามาได้ และเอกชนนำไปจำหน่ายในราคาทุน 2 โดส 800 บาท หรือในราคาที่ต่ำกว่าทางองค์การเภสัชกรรมและสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเปิดสั่งจองและนำเข้าจำหน่ายในราคาประมาณ 1,650 บาทต่อโดส ะเกิดข้อเปรียบเทียบทั้งเรื่องของราคาศักยภาพและความสามารถในการนำเข้าวัคซีนของหน่วยงานบางหน่วยงานซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการที่จะนำโมเดิร์นราคาถูกเข้ามา 

 

สำหรับประเด็นนี้รศ.นพ.พฤหัส ให้ความเห็น อาจมีความเป็นไปได้ และทางธรรมศาสตร์ได้เตรียมพร้อมในการชี้แจงในกรณีสามารถนำเข้ามาได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมศาสตร์จะถูกพาดพิงและกระทบไม่ทางใดทางหนึ่ง “เราต้องอธิบายด้วยว่าจริงๆแล้วในส่วนของการจองล่วงหน้าต้องอย่าลืมว่าตอนนั้นสถานการณ์ต่างจากตอนนี้ ความต้องการวัคซีนและปริมาณวัคซีนในเมืองไทยไม่ได้เยอะจึงต้องมีการจัดการล่วงหน้า แต่เมื่อมาถึงณวันนี้ราคาวัคซีนที่เราได้เช็คในท้องตลาดที่เราจะดำเนินการซื้อมีราคาที่ถูกลงและเร็วขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ธรรมศาสตร์จะพยายามติดต่อไม่ว่าจะเป็นทางสถานทูตประจำตัวแทนหรือภายในประเทศเอง และร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น”