เตือนกิน “กระท่อม” ไม่เกิน 3 ใบปลอดภัย แต่ต้องระวังหากใช้ไม่เหมาะสม

12 พ.ย. 2564 | 15:49 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 00:16 น.

วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพร เตือนประชาชนกิน “กระท่อม” ไม่เกิน 3 ใบ ปลอดภัย แต่ยังต้องเฝ้าระวังหากใช้ไม่เหมาะสม พร้อมแนะวิธีใช้

 

วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ เรื่อง "กระท่อม รู้ไว้ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย"  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยเชิญ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และคณาจารย์เภสัชกร ที่ติดตามการใช้กระท่อมในภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้เภสัชกรได้เข้าใจถึงแนวทางการประโยชน์ ทั้งในแง่ของกฏหมาย หลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุน และรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด

 

รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลการจัดเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากเภสัชกรและผู้สนใจกว่า 400 คน ซึ่งต้องขอบคุณวิทยากรที่ได้มาให้ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หลังจากปลด “กระท่อม” ออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ

“สิ่งที่เราได้ข้อมูลในวันนี้ตรงกัน คือ กระท่อมเป็นพืชสมุนไพรของไทย เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของคนไทยโดยเฉพาะภาคใต้ มีโอกาสทางการตลาดในการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้”

 

อย่างไรก็ตามการใช้ที่ไม่เหมาะสม ทั้งขนาดที่สูง ระยะเวลานาน หรือใช้ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือสารเสพติดอาจทำให้เสพติดได้ ดังนั้น จุดนี้ทางวิทยาลัยก็ได้เน้นย้ำกับเภสัชกรให้ทำความเข้าใจกับผู้บริโภค

                                เตือนกิน “กระท่อม” ไม่เกิน 3 ใบปลอดภัย แต่ต้องระวังหากใช้ไม่เหมาะสม

 

ในส่วนของประโยชน์ทางสุขภาพจากการบริโภคมีความสอดคล้องของงานวิจัยในปัจจุบันและการใช้ดั้งเดิม คือ บำรุงกำลัง ทำให้มีแรงในการทำงาน ทนแดด โดยเริ่มใช้ปริมาณน้อยๆ ครึ่งถึงหนึ่งใบ เคี้ยวใบ คายกากทิ้ง ขนาดสูงสุดไม่เกิน 3 ใบ หรือ 1-5 กรัมของใบกระท่อม

 

ส่วนประโยชน์อื่นๆ ที่อาจได้ประโยชน์ เช่น การบรรเทาอาการปวด ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ทำให้แจ่มใส แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ ดังนั้นประชาชนต้องเข้าใจตรงนี้

                                เตือนกิน “กระท่อม” ไม่เกิน 3 ใบปลอดภัย แต่ต้องระวังหากใช้ไม่เหมาะสม

ในส่วนของการใช้ในภาคประชาชน วิทยากรก็ได้ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า มีการขายใบและน้ำแปรรูปออนไลน์ ถึงอาจจะส่งผลต่อการเข้าถึงของประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่ได้ยาหลายประเภท

 

ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมนำมาลดน้ำหนัก ซึ่งตรงนี้ต้องเรียนประชาชนว่า ยังไม่มีขนาดที่ชัดเจนว่า ใช้เท่าใดจึงจะควบคุมน้ำหนักได้ การติดตามในระยะยาวผู้ที่ใช้กระท่อมบางรายน้ำหนัก ก็กลับมาเพิ่มขึ้นได้อีก

 

“ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้กระท่อม หรือ สมุนไพร อยากให้ปรึกษาเภสัชกร เพื่อให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์ทางสุขภาพ" ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย กล่าว