เดลต้าพลัสน่ากังวล หมอธีระวัฒน์แนะเร่งฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังแก้ขาดแคลน

27 ต.ค. 2564 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 17:49 น.

หมอธีระวัฒน์ชี้โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสน่ากังวล แนะเร่งฉีดวัคซีนให้มากกว่านี้ ระบุผู้ฉีด 2 เข็มเวลานี้ภูมิหายหมดแล้ว เสนอฉีดเข้าชั้นผิวหนังแก้ปัญหาขาดแคลน

ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) สายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว 1 รายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยความน่ากลัวของเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวก็คือมีการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 15% 
ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ย้อนไปเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ………ที่พบเดลตา ที่แคมป์คนงานที่หลักสี่ และ ทางการประกาศ ไม่ต้องวิตก เพราะเจอไม่กี่ราย และคุมสถานการณ์ได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดือนมิถุนายน ย้ำแบบเสียงดังฟังชัดเกี่ยวกับประเด็น “สงครามโควิด : ทำไมต้องบุกเร็ว-แรง”
จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสาย “เดลตา” หรือ “เบตา” เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย โดยที่สายพันธุ์ปกติยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ และ...ทำไมเราต้องบุก “เร็ว”-“แรง” ?
นั่นเป็นเพราะว่าความสามารถในการแพร่กระจายของโควิดเก่งขึ้นเรื่อยๆ ตามการผันตัวของรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการติดเชื้อเก่งขึ้น สร้างไวรัสปริมาณมากขึ้น หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น ประกอบกับความเบื่อบ้าง...ความไม่ใส่ใจวินัย รวมทั้งจากความจน ความท้อแท้ของคน ความหดหู่สิ้นหวัง

พบโควิดสายพันธุ์เดลตาพลัสในไทย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า สายเดลตา (อินเดีย) ที่พบที่หลักสี่ 21 พฤษภาคม และเป็นในชุมชนแล้ว (แม้จะเป็นในแคมป์คนงาน) ต้องถือว่าเป็นการแพร่ทั่วไปแล้ว เพราะไม่สามารถสืบทั้งต้นตอ และทิศทางการแพร่กระจายได้ชัดเจน และทางการประกาศยืนยันในเวลาต่อมาว่ากระจายทั่วไปจริง
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมสายเบตาหรือแอฟริกาที่พบในลักษณะเดียวกันในภาคใต้ในชุมชนเช่นกันที่ควรจะรุนแรงมากกว่าและจากที่ห้องปฏิบัติการของเราพบสายเดลตาเนิ่นนานจากตัวอย่าง 13 พฤษภาคม แล้ว
และ วันนี้ 24 ตุลาคม 2564 มีเดลต้าพลัส 1 ราย ในชุมชน ทางการประกาศไม่ต้องกังวล 
น่าจะต้องเปลี่ยนการสื่อสารว่า
1.การเร่งการฉีดวัคซีน ต้องทำมากกว่านี้ ขณะนี้สองเข็มได้ประมาณ 40% แต่ถ้าพิจารณาถึงประชาชนที่ฉีดสองเข็มไปนานแล้ว ตัวเลขดังกล่าว ที่จะสู้กับไวรัสได้จะน้อยกว่า 40%เพราะภูมิหายหมดแล้ว
2.การที่พบวาเรียนท์ย่อย นอกจาก เดลตาพลัส แสดงถึงการที่มีการกระจัดกระจายแพร่ระบาดของไวรัสไปอย่างเงียบๆ ตลอดเวลา จนในที่สุดไวรัสจะปรับตัวเองให้เก่งขึ้นในการแพร่กระจายนั่นก็คือในการหลบหลีกวัคซีนได้มากขึ้น
3.ต้องยอมรับว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังจะขจัดปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัคซีน และสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็วที่สุดรวมทั้งลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอย่างหนาตาในผู้ได้รับวัคซีนในขณะนี้
4.ต้องการเศรษฐกิจดีเปิดประเทศอย่างสง่างามต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดีไปพร้อมกันอย่างรีบด่วน
บทเรียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล โควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 8452 ราย
ติดในระบบ 7654 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 631 ราย
ติดในสถานกักตัว  7 ราย
ติดในเรือนจำ 160 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,846,452 ราย
สะสมทั้งหมด 1,875,315 ราย
หายป่วย 8449 ราย
สะสม 1,758,297 ราย
รักษาตัวอยู่ 98,096 ราย
โรงพยาบาลหลัก 42,762 ราย 
โรงพยาบาลสนาม 47,334 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19

แยกกักที่บ้าน 6255 ราย
อาการหนัก 2355 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 534 ราย
เสียชีวิต 57 ราย
สะสมระลอกที่สาม 18,828 ราย
สะสมทั้งหมด 18,922 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 2653 ราย
สะสม 256,879 ราย
ฉีดวัคซีนแล้ว 72 ล้านโดส