3 ข้อควรรู้ โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส หลังในไทยพบแล้ว 1 ราย

26 ต.ค. 2564 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 18:30 น.
3.3 k

3 ข้อควรรู้ โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส หลังในไทยพบแล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง ขณะที่ในวันนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแถลงเป็นทางการอีกครั้ง

เกาะติด "โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส" เเน่นอนว่าโควิดสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ สายพันธุ์เดลต้า” แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก นอกจากสายพันธุ์เดลต้ายังมีสายพันธุ์เดลต้าย่อยอีกด้วย

ซึ่งล่าสุดวานนี้ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด “สายพันธุ์เดลต้าพลัส” หรือ AY.4.2 จำนวน 1 ราย เป็นชายอายุ 49 ปี ประวัติทำงานที่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากการส่งตัวอย่างไปที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร กองทัพบก พบสายพันธุ์ AY.4.2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ซึ่งเชื้อ “เดลต้าพลัส” ยังอยู่ในการจับตาเฝ้าระวังในประเทศไทย

เพราะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทั้งนี้ผู้ป่วยคนดังกล่าวรักษาหายแล้ว

โดยวันนี้ (26 ตุลาคม 2564) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแถลงเป็นทางการอีกครั้ง 

3 ข้อควรรู้ โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส หลังในไทยพบแล้ว 1 ราย 

1.โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสคืออะไร

โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม ระบุว่า โควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะมีการกลายพันธุ์ในกรดอะมิโน ที่เรียกว่า k417n เป็นกรณีกลายพันธุ์ที่คล้ายกับสายพันธุ์เบต้า หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์นี้สามารถหลบเลี่ยงภูมิต้านทานได้ดีกว่า และติดต่อได้ง่ายที่สุดในไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

2.เดลต้าพลัสกับเดลต้าต่างกันอย่างไร

ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้ข้อมูลเรื่องการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสในสหราชอาณาจักร ดังนี้

สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2 สหราชอาณาจักรมีการติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นเร็วจนได้รับการยกระดับเป็น variant under investigation ที่ติดกันตอนนี้มีทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจเป็นเพราะยังได้รับวัคซีนกันไม่มากนัก

เดลต้าพลัส (AY.4.2) กลายพันธุ์ต่อยอดจากสายพันธุ์เดลต้า การป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิต พอ ๆ กับเดลต้า (B.1.617.2) แต่แพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดลต้าเดิม 17%

อัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากขึ้นกว่าเดิม 12% (ช่วงความเชื่อมั่น 8-16%) ทั้งนี้เราทราบกันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า เดิมอัตราการแพร่ให้คนที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เฉลี่ยประมาณ 18-20%

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วของสหราชอาณาจักรนั้น คาดว่าไม่น่าจะอธิบายจากความสามารถในการแพร่ของเดลต้าพลัสแต่เพียงอย่างเดียว

แต่น่าจะเป็นจากการใช้ชีวิตประจำวันของประชากร ที่อาจไม่ได้ป้องกันตัวเคร่งครัด และมีการเปิดกิจการกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ ทำให้ไวรัสซึ่งมีสมรรถนะแพร่ได้ดีกว่าเดิมระดับหนึ่ง ไปอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ซึ่งมีทั้งเรื่องคนจำนวนมาก แออัด ใกล้ชิด ระยะเวลาอยู่ด้วยกันนาน ก็จะทำให้เกิดติดเชื้อจำนวนมากอย่างที่เห็นในปัจจุบันได้

ดังนั้น คนไทยเราจึงควรระมัดระวัง หลังเปิดประเทศ กิจการกิจกรรมต่าง ๆ จะมากขึ้น ครบปัจจัยเสี่ยง number, frequency, closeness, duration ที่จะทำให้เชื้อเดลต้าเดิมในประเทศปะทุลามมากขึ้น และหากมีสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่างเดลต้าพลัสหรืออื่น ๆ เข้ามา ก็จะดำเนินรอยตามการระบาดหนักขึ้นของต่างประเทศได้

3.ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

โควิดสายพันธุ์เดลตา และเดลตาพลัสเพิ่มคุณสมบัติในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี

วัคซีนไฟเซอร์ 

ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%  (หมายความว่า 33% เมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ)

ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนโมเดอร์นา 

ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%

ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า  จากข้อมูลของทางสหรัฐฯ

ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%

ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 60%

วัคซีนซิโนแวค 

ยังไม่มีรายงานในการป้องกันการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดจะต่างกัน แต่ทุกยี่ห้อสามารถป้องกันการอาการหนักหากติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลต้าได้ เพื่อป้องกันอาการรุนแรง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด