"โมลนูพิราเวียร์" ช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้คาดเข้าไทยพ.ย.-ธ.ค.

18 ต.ค. 2564 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 17:04 น.

หมอยงเผยโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ ชี้ผู้ที่ทาน 400 หรือ 800 mg เช้าเย็นไม่สามารถเพาะเชื้อขึ้นในวันที่ 5 หลังเริ่มทาน คาดเข้าไทยเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19  การรักษาด้วยยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์
หมอยง ระบุว่า เราจะต้องมีชีวิตอยู่กับ covid-19 วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค ทำให้อัตราการความรุนแรงของโรค และเสียชีวิตลดลง 
ยังมีการพัฒนายามาช่วยลดความรุนแรง และการเสียชีวิต ลดการแพร่กระจายเชื้อ
Molnupiravir เป็นยารับประทานที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตของผู้ป่วย covid-19 ลงครึ่งหนึ่ง  ถ้าให้ยานี้ภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ
นอกจากนี้ มีการศึกษาชัดเจนว่า Molnupiravir ยังช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้ ผู้ที่ทานยา Molnupiravir 400 หรือ 800 mg เช้าเย็น ไม่สามารถเพาะเชื้อขึ้นในวันที่ 5 หลังเริ่มทานยา  เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก หรือไม่ได้รับประทานยา จะยังเพาะเชื้อขึ้น ได้ 11 เปอร์เซ็นต์

ขณะนี้ยายังรอ การรับรองให้ใช้ จากองค์การอาหารและยา USA ยามีราคาแพง ในอนาคตบริษัทในอินเดีย ได้รับอนุญาตให้ผลิตถึง 5 บริษัทจะทำให้ยาราคาถูกลง
ความฝันในอนาคตที่ทำวัคซีน และยารักษา จะทำให้ลดความรุนแรงโรคลงได้ โรคนี้ก็จะเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ที่อยู่กับเรา

ประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์
สำหรับยา โมลนูพิราเวียร์ นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่า ยาดังกล่าวเป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นยาเม็ด เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาของบริษัท ริดจ์แบ็ค เทอราพิวทิค (Ridge Biotherapeuthics) ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท เมอร์ค (Merck) ประเทศเยอรมันนี
โดยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า โมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในมนุษย์หลายโรค เช่น โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS) และ โรคโควิด 19 (COVID-19) 
นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสอีโบลา (Ebola) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัสไข้สมองอักเสบบางชนิด (Encephalitis) 

ส่วนในประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามการพัฒนายารักษาโรคโควิด -19 ในหลายตัว รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ โดยมีการเจรจากันอยู่ตลอด ซึ่งล่าสุดผลการศึกษาระยะที่ 3 ของยานี้ได้ผลดี อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หากขึ้นทางอย. สหรัฐฯ แล้วนั้น ก็ต้องมีการมาขึ้นทะเบียนนำเข้ายาดังกล่าวกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยด้วย อาจจะเป็นปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน
คาดการณ์ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ น่าจะมาปลายเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม 64 ส่วนเรื่องราคา ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากการเซ็นสัญญาต้องไม่เปิดเผยข้อมูลกันเอาไว้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการขายในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เท่ากัน
โดยยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย อาการปานกลาง 1 คน ใช้ 40 เม็ด นาน 5 วัน เท่ากับผู้ป่วย 1 คน จะใช้ยา 40 เม็ด