งบปี 65 จะขาดดุลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล. อนุสรณ์ชี้สูงสุดรอบหลายทศวรรษ

05 ต.ค. 2564 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 18:13 น.

อนุสรณ์เผยงบประมาณปี 65 จะขาดดุลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ชี้สูงสุดรอบหลายทศวรรษ หลังเก็บภาษีพลาดเป้าค่อนข้างมาก คาดปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 4%

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า งบประมาณปี 65 จะมีการขาดดุลงบประมาณสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยจะมีการขาดดุลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทเพิ่มจากที่ประมาณการเดิมไว้ที่ 7 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้จากเก็บภาษีจะพลาดเป้าค่อนข้างมากและโอกาสในการเก็บภาษีได้สูงกว่า 2.563 ล้านบาทในระดับเดียวกับปี 2562 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย 
ส่วนการใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรายได้จะตกอยู่กับกลุ่มคนที่ร่ำรวยและชนชั้นกลางมากกว่ากลุ่มคนยากจนหรือมีรายได้น้อยโดยที่คนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบมากกว่าในช่วงวิกฤติโควิดและยังถูกซ้ำเติมโดยอุทกภัย
อย่างไรก็ดี ในเรื่องการขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากระดับ 60% ไปเป็น 70% นั้นมีความจำเป็น เพราะหากไม่ขยับโดยฐานะทางการคลังในปัจจุบันและอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งเกิน 60% อยู่แล้ว รัฐบาลต้องพยายามควบคุมการก่อหนี้ในแต่ละปีและต้องทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลง และรัฐบาลในอนาคตต้องทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพในระดับ 5-6% จึงจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 60% ของจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า 

ในกรณีที่เศรษฐกิจเติบโตได้น้อยกว่า 1% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุ 80% และรัฐบาลในอนาคตในช่วงปี พ.ศ. 2570 อาจจะขยายเพดานหนี้อีกครั้งหนึ่ง ประเทศไทยนั้นมีหนี้ระยะยาวเพื่อชดเชยความเสียหายทางการเงินของกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ยังมีภาระค้างอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 700,000 ล้านบาท หนี้ระยะยาวพุ่งขึ้นอย่างมากหลังจากประเทศไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 (covid-19) มาเป็นเวลาร่วมสองปี 
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหนี้ระยะยาวส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าการกู้เงินมาเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งการเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การก่อหนี้สาธารณะเพื่อการลงทุนเป็นสัดส่วนไม่มากจึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโตในระยะปานกลางและระยะยาวของไทยจะมีขีดจำกัด

อนุสรณ์ ธรรมใจ
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หากตั้งสมมติฐานจากข้อมูลในอดีต การตั้งงบประมาณรายจ่ายประเทศอยู่ที่ 20-22% และรายได้รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้ 17-18% ของ GDP ทำให้ต้องทำงบประมาณขาดดุลมาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2549 และรัฐบาลต้องกันเงินงบประมาณอย่างน้อย 3.5-4% ของงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินกู้และต้องพยายามทำให้งบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573-2574 การใช้จ่ายจากงบประมาณต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส 
นอกจากนี้ ควรต้องปฏิรูประบบภาษีให้ประเทศสามารถหารายได้จากภาษีทรัพย์สิน ภาษีบาป ได้เพิ่มขึ้นอีกและทยอยลดการค้ำประกันให้กับรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นภาระต่องบประมาณน้อยลง กิจการใดที่เอกชนสามารถทำได้ดีกว่ารัฐวิสาหกิจให้เพิ่มบทบาทภาคเอกชน

สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 29-30 จังหวัด คิดเป็น 28-32% ของจีดีพีประเทศ ผลกระทบดังกล่าวฉุดการกระเตื้องขึ้นทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศที่คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไตรมาส 4/64 ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท 
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์น้ำท่วมสามารถบริหารจัดการได้ไม่ให้ท่วมในส่วนที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือย่านศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมยังอยู่ในวงจำกัดไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากนัก ส่วนประชาชนฐานรากและภาคเกษตรกรรมเสียหายอย่างหนักนั้น รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อชดเชยความเสียหายในทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งชดเชยรายได้บางส่วน