ทางออกเลี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในวัยรุ่นฉีดวัคซีนเชื้อตายตามด้วย mRNA

24 ก.ย. 2564 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 15:00 น.
541

หมอยงเผยทางออกในการเลี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในวัยรุ่น แนะฉีดวัคซีนเชื้อตาย 1 เข็มตามด้วย mRNA ชี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะความปลอดภัย และอาการข้างเคียง

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 วัคซีน การให้วัคซีนเข็มแรกเริ่มต้น และกระตุ้นเข็ม 2 
วัคซีนเชื้อตายเข็มแรกเริ่มต้นจะเป็นตัวรองพื้นที่ดี และตามด้วยการกระตุ้นด้วย virus vector  หรือ mRNA
วัคซีนเชื้อตาย มีอาการข้างเคียงน้อยมาก เช่น อาการเจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เทียบกับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA  มีมากกว่า
การให้วัคซีนสลับ  แบบไขว้ โดยเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย AstraZenecacac หรือ Pfizer ภูมิต้านทานจะใกล้เคียงกับ การให้วัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer  2 เข็ม ดังแสดงในรูป (ตรวจภูมิต้านทานที่ 1 เดือน)

ภูมิต้านทานหลัง 1 เดือน
การให้วัคซีนสลับเริ่มต้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ AstraZeneca แล้วตามด้วย mRNA Pfizer วัดภูมิต้านทานได้สูงสุดในกรณีให้ 2 เข็ม
mRNA มีอาการข้างเคียง เข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก 

อาการข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในวัยรุ่นหลังให้ mRNA จะพบมากในเข็มที่ 2 เป็นที่วิตกกังวลของผู้ปกครอง และบางประเทศแนะนำให้ mRNA เข็มเดียว 
mRNA เข็มเดียวระดับภูมิต้านทานไม่เพียงพอในการป้องกัน
การให้วัคซีนสลับ เริ่มต้น วัคซีนเชื้อตายเข็มแรก แล้วตามด้วย mRNA เข็มที่ 2  ทำให้ได้รับ mRNA เข็มเดียว น่าจะเป็นทางออกลดอาการข้างเคียง
ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะความปลอดภัย และอาการข้างเคียง ในการให้วัคซีนสลับ เริ่มต้นเชื้อตาย แล้วตามด้วย mRNA ในเด็กวัยรุ่น
ลำดับการสลับวัคซีน มีผลต่อภูมิต้านทาน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เคยนำเสนอไปแล้ว โดยมีข้อความสำคัญว่า ทางเลือกสำหรับประเทศไทยในเด็กตั้งแต่อายุสามขวบขึ้นไปเพื่อความปลอดภัยสูงสุดจากหัวใจอักเสบ อาจจะเป็นวัคซีนเชื้อตายสองเข็มแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมเดลตาได้ จึงตามด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดนา ในปริมาณน้อยที่สุดคือหนึ่งส่วนสี่โดส เข้ากล้าม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลหรือจะใช้ขนาดหนึ่งในห้าหรือหนึ่งใน 10 ทางชั้นผิวหนังก็ได้ผลเช่นกัน และปลอดภัยกว่า