6องค์กรสื่อยัน"สื่อมีสังกัด"ไม่ถูกจับสลายชุมนุม"ทะลุแก๊ส"    

12 ก.ย. 2564 | 19:22 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 02:33 น.

6องค์กรสื่อเกาะติดเหตุปะทะค่ำ11ก.ย. เจ้าหน้าที่ประสานแจ้งก่อนปฎิบัติการ ยังไม่พบสื่อมีสังกัดถูกดำเนินคดี เปิดรับคำร้องหากได้รับผลกระทบ ตำรวจยันไม่มีนโยบายห้ามเสนอข่าวแม้ช่วงเคอร์ฟิว แต่ต้องเป็นสื่อตัวจริง"มีสังกัด-ติดปลอกแขน-หนังสือรับรองปฎิบัติงาน" 

เหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สกับตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.)ที่ต้นถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อค่ำวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งตำรวจสั่งตรวจสอบผู้ชุมนุม รวมถึงผู้ปฎิบัติหน้าที่สื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุมด้วย โดยระบุว่ามีผู้ชุมนุมแฝงทำตัวเป็นผู้สื่อข่าว โดยหากไม่มีสังกัดสื่อที่ชัดเจนจะถูกดำเนินคดีด้วยนั้น
    

วันที่ 12 ก.ย. 2564 เว็บไซต์ www.tja.or.th  เผยแพร่จดหมายข่าว 6 องค์กรสื่อติดตามสถานการณ์คืนวันที่ 11 กันยายนด้วยความห่วงใย และร่วมหาทางออกแนวทางให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม   โดยนายมงคล  บางประภา  นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้แทนผู้บริหารของ 6 องค์กรสื่อ หารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 11 กันยายน โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะการทำงานของสื่อมวลชน ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุความรุนแรง ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว
   6องค์กรสื่อยัน\"สื่อมีสังกัด\"ไม่ถูกจับสลายชุมนุม\"ทะลุแก๊ส\"      
จากการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลพบว่า  ค่ำวันดังกล่าวมีความรุนแรงมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายจำนวนหนึ่ง  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการเพื่อกวาดจับผู้ก่อเหตุความรุนแรง  โดยได้มีการแจ้งต่อสื่อมวลชนในพื้นที่ ให้มีการลงทะเบียนเพื่อการคัดกรอง ตรวจหลักฐานยืนยันความเป็นสื่อมวลชน ก่อนปฏิบัติการ  

โดยอ้างว่ามีรายงานว่ามีบุคคลบางส่วน ได้แสดงตัวเป็นสื่อมวลชน เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ไม่ได้มีสถานะนั้นอยู่จริง  และฝ่ายเจ้าพนักงานก็ได้แจ้งให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว  โดยยังคงอนุญาตให้สื่อมวลชนที่มีสังกัดชัดเจน  มีตัวตนยืนยันได้กับต้นสังกัด สามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวดังกล่าวได้ และยังไม่พบว่ามีสื่อมวลชน ที่มีหลักฐานยืนยันตัวตนและเครื่องหมายระบุฝ่าย ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

นอกจากนี้ 6 องค์กรสื่อยังได้รับแจ้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้รับผิดชอบผ่านผู้ประสานงานของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ดังนี้ 
    

จากการประสานงาน บช.น.ยืนยัน ไม่มีนโยบายในการห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าว แม้ว่าจะเป็นช่วงหลังประกาศเคอร์ฟิวแล้วก็ตาม แต่สื่อที่อยู่ในพื้นที่หลังประกาศเคอร์ฟิวเพื่อรายงานข่าวหรือไลฟ์สดนั้น จะต้องมีองค์ประกอบตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว นั่นคือจะต้องมีบัตรประจำตัวแสดงต้นสังกัดที่ชัดเจน  มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร และหากมีจดหมายเอกสารจากต้นสังกัด เพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิว์ประกอบด้วย ก็จะถือว่าครบถ้วน 
    

"อย่างไรก็ตาม แม้มีเพียงบัตรแสดงตนและปลอกแขนก็เพียงพอแล้ว  แต่หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสื่อมวลชนก็จะต้องถูกนำตัวไปสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย"

นายกสมาคมนักข่าวฯ  กล่าวว่า หากมีเหตุการณ์ใดที่พบมีการจับกุม การละเมิด หรือมีการทำร้ายผู้สื่อข่าว ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ  ขอให้แจ้งข้อมูลมายังช่องทางของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หรือองค์กรวิชาชีพอื่น ๆ ใน 6 องค์กรสื่อ  เพื่อจะได้ช่วยประสานงานให้เกิดความปลอดภัยในการทำหน้าที่ และรักษาพื้นที่ของสื่อมวลชนในการเป็นพยานเหตุการณ์และรักษาสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

    ด้านนายพีระวัฒน์  โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า  หากมีคำสั่งห้ามสื่อนำเสนอข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวจริง จะส่งผลต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสังคม ซึ่งในทางกลับกัน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีสื่อคอยนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
    

"สื่อมีหน้าที่นำเสนอความจริงที่ถูกต้อง และควรมีพื้นที่ปลอดภัย ที่ทำให้สื่อทุกสำนักสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว เนื่องจากมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อและผู้รับผิดชอบให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานี้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกัน"
    

"ผมยืนยันว่า สื่อควรมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ทั้งนี้ ขอเรียกร้องทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ไม่ควรมีท่าทีที่คุกคามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ และสื่อทุกสำนักก็พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าว ที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย" นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าว
    

นายสุปัน  รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยให้ความเห็นว่า หนังสือรับรองจากองค์กรฯ ว่าทำงานหรือกลับจากปฎิบัติงานในช่วงเวลาคอร์ฟิวส์ อาจช่วยแก้ปัญหาให้นักข่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อ แม้ล่วงเลยเวลาเคอร์ฟิวแล้ว  และยืนยันเห็นด้วยในหลักการเสรีภาพสื่อมวลชน ให้นักข่าวต้องทำข่าวได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    

6 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ  สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย