"หมอเฉลิมชัย" ชี้เด็กไทยควรเริ่มฉีดวัคซีนโควิดด้วย ซิโนฟาร์ม-ซิโนแวค

10 ก.ย. 2564 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 15:14 น.
2.9 k

หมอเฉลิมชัยเผยเด็กไทยควรเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิดด้วย ซิโนฟาร์ม หรือ ซิโนแวค ที่เป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ระบุมีความปลอดภัยกว่าวัคซีนหลายชนิด

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
เด็กไทย อาจเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิดด้วย Sinopharm หรือ Sinovac ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ที่มีความปลอดภัยในวัคซีนหลายชนิด
A.เด็ก
1.เป็นผู้ที่มีร่างกายยังไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่เหมือนผู้ใหญ่
2.ระบบการทำงานต่างๆรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่
3.การตอบสนองต่อการติดเชื้อของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่มาก
B.เด็กกับโรคโควิด-19 (Covid-19)
1.เด็กติดเชื้อแล้วมักไม่ค่อยแสดงอาการ (Asymptomatic)
2.ในกลุ่มเด็กที่แสดงอาการ มักมีอาการเพียงเล็กน้อย โอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตมีน้อยมาก (ยกเว้นมีโรคประจำตัว)
3.เด็กสามารถแพร่เชื้อให้ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุได้ รวมทั้งรับเชื้อจากผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเดียวกัน

C.เด็กกับวัคซีนโควิด-19
1.มีรายงานการทดลองวัคซีนในเด็ก ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์มากเท่ากับในผู้ใหญ่
2.เท่าที่มีข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงของวัคซีน มากกว่าเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน เพราะความเสี่ยงในการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในเด็กนั้นมีต่ำ
3.สถานการณ์ของวัคซีนในปัจจุบันวัคซีนทุกบริษัท (ยกเว้นของไฟเซอร์) ให้ฉีดอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นการจดทะเบียนในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น (ยกเว้นวัคซีนไฟเซอร์เป็นการจดทะเบียนปกติเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา)
อายุ 12-17 ปี : วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ใช้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้
4.อนาคต : วัคซีนที่อยู่ระหว่างกำลังวิจัยพัฒนา
ในเด็กอายุ 5-11 ปี ได้แก่ 
วัคซีน Pfizer และ Moderna
อายุ 3-17 ปี ได้แก่ 
วัคซีนของ Sinovac 
และ Sinopharm

เด็กไทย อาจเริ่มต้นฉีดวัคซีโควิดด้วย Sinopharm หรือ Sinovac
จีนเริ่มฉีด Sinovac ในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อมิถุนายน 2564 และ Sinopharm เมื่อ กรกฎาคม 2564
ยูเออีอนุมัติให้ฉีดอายุ 3-17 ปี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564
5.ผลข้างเคียงหรือมิติของความปลอดภัย :
วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย (Sinovac/Sinopharm) จะมีความปลอดภัยสูง  เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตวัคซีนฉีดให้กับเด็กมานานหลายสิบปีแล้วเช่น
วัคซีนป้องกันไอกรนชนิดทั้งเซลล์
วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด
วัคซีนป้องกันตับอักเสบเอ
วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

ในขณะที่วัคซีนเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ยังไม่เคยผลิตเป็นวัคซีนที่ฉีดให้กับเด็กมาก่อนเลย
จากการเก็บข้อมูลฉีดวัคซีน mRNA ให้กับเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป พบผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบน้อยมาก คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
อายุ 12-15 ปี 
พบ 20.9 รายต่อ 1 ล้านโดส
อายุ 16-17 ปี 
พบ 34 รายต่อ 1 ล้านโดส
สำหรับประเทศไทย ความเห็นของสมาคมกุมารแพทย์และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เห็นว่า ในอายุ 16-17 ปี น่าจะให้ฉีดวัคซีนโควิดได้ เพราะมีระบบในร่างกายใกล้เคียงกับผู้ใหญ่แล้ว
ส่วนในเด็กอายุ 12-15 ปี เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิตน้อย เมื่อชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงที่มีอยู่ จึงคิดว่า ยังไม่แนะนำให้ฉีดเป็นการทั่วไป แต่ให้ฉีดกับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งมีประโยชน์คุ้มกับความเสี่ยงจากวัคซีน ได้แก่
กลุ่มโรคอ้วน กลุ่มทางเดินหายใจหอบหืด กลุ่มหัวใจและหลอดเลือดสมอง กลุ่มไตวายเรื้อรัง กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มเบาหวาน กลุ่มระบบประสาทพัฒนาการล่าช้าหรือปัญญาอ่อน เป็นต้น
D.แนวทางที่ควรดำเนินการในประเทศไทย
สำหรับเด็กและเยาวชน ณ เดือนกันยายน 2564 เท่าที่มีข้อมูลทั้งหมด ( สามารถเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเพิ่มเติม)
1.ควรพิจารณาให้วัคซีนในเด็กอายุ 16-17 ปี เป็นลำดับแรก และตามด้วยกลุ่มอายุ 12-15 ปี , 5-11 ปี และ 2-4 ปี ตามลำดับ
2.ในแต่ละช่วงอายุ ควรเริ่มต้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เพราะจะมีประโยชน์จากวัคซีนที่จะลดความเสี่ยงของการเป็นโรค มีความคุ้มค่ากับผลข้างเคียงของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง ส่วนกลุ่มที่ไม่เสี่ยง ควรจะรอการศึกษาไปอีกระยะหนึ่ง
3.ในกลุ่มที่ตัดสินใจว่าสมควรจะฉีดวัคซีนในเด็กได้แล้ว ควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายจึงน่าสนใจมากกว่าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA
4) การฉีดเข้าผิวหนัง (ID) อาจเป็น ทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) เพราะจะลดผลข้างเคียงลง เนื่องจากได้รับวัคซีนน้อยกว่าประมาณ 5-10 เท่า แต่ต้องพิจารณาเรื่องผลข้างเคียงเฉพาะที่ซึ่งอาจมีบวมแดงที่ผิวหนังได้เป็นเวลาหลายวัน

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
โดยสรุป
1.การฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นหลัก และคำนึงถึงเรื่องประสิทธิผลเป็นเรื่องรอง เพราะส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนติดเชื้อแล้วจะป่วยไม่มากนัก ประโยชน์ที่ได้จากการป้องกันโรค เทียบกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจต้องพิจารณาให้ดี
2.เมื่อพิจารณาแล้ว คิดว่ามีประโยชน์คุ้มที่จะฉีดวัคซีนให้เด็ก ขอให้พิจารณาวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายเป็นหลักก่อน เพราะมีความปลอดภัยสูง มีความคุ้นเคยจากการนำมาฉีดหลายสิบปีแล้ว
3.ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังไม่เสี่ยงมาก ให้ชลอการฉีดวัคซีนไว้ก่อน จนเกิดผลงานวิจัยเพิ่มเติมเรื่องผลข้างเคียงหรือความปลอดภัย จนได้ประโยชน์คุ้มค่าจึงเริ่มฉีด
4.เด็กที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ควรรณรงค์ให้บุคคลใกล้ชิดเด็ก ทั้งในครอบครัว หรือในโรงเรียน ให้ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน
5.การฉีดวัคซีนแบบเข้าผิวหนัง (ID) น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) เพราะผลข้างเคียงน้อยลงและใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลงมาก
สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กดังกล่าวนั้น  สอดคล้องกับมุมมองของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่า เด็กเล็กถึงโตและวัยรุ่น ควรได้วัคซีน โดยวัคซีนเชื้อตายจะมีความปลอดภัยมากที่สุด

หมอธีระวัฒน์ระบุว่า จากข้อมูลในประเทศไทยเอง จะพบว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายเช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม  ครบสองเข็มและหลังจากนั้นตามต่อด้วยวัคซีนเช่น แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จะมีระดับของภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสหรือที่เรียกว่าภูมิดีขึ้นสูงมากถึงระดับเกือบ 100% และสามารถมีประสิทธิภาพครอบคลุมสายพันธุ์อื่นเช่นเดลต้าได้อย่างดีมาก ซึ่งควรจะได้รับผลเช่นเดียวกันในกลุ่มเด็กแล้วจะทันไม่สามารถครอบคลุมคนไทยได้ทุกอายุในประเทศไทย