ภูเก็ตติดท็อปเท็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดหลังเดลต้าลามหนัก

07 ก.ย. 2564 | 19:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2564 | 03:03 น.

“ภูเก็ต”ติดท็อปเท็นจังหวัดที่มียอดติดเชื้อรายวันสูงสุดหลังเดลต้าลามหนัก เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ด่านหน้า 9,000 คน ฉีดเข็ม 1 เข็ม 2 ให้ผู้สูงอายุ โดยระดมฉีดวันละ ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน คุมให้เหลือเตียงว่างให้ได้มากที่สุด เพื่อเดินหน้า“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”ต่อเนื่อง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,821 ราย โดยพบว่าจังหวัดภูเก็ต ติดอันดับ1ใน10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด

                                                     

10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด

 

1.กรุงเทพมหานคร 3,997 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 305,380 ราย

 

2.สมุทรปราการ 1,140 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 88,224 ราย

 

3.ชลบุรี 718 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 68,321 ราย

 

4.สมุทรสาคร 694 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 79,785 ราย

 

5.ราชบุรี 439 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 20,557 ราย

 

6.ระยอง 357 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 20,798 ราย

 

7.พระนครศรีอยุธยา 311 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 22,537 ราย

 

8.นนทบุรี 249 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 46,249 ราย

 

9.ภูเก็ต 232 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 5,595 ราย

 

10.ปัตตานี 215 ราย สะสม(1 เม.ย.-7 ก.ย.64) 16,365 ราย

            ภูเก็ตติดท็อปเท็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดหลังเดลต้าลามหนัก    

 

การติดอันดับ 1 ใน 10 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงสุดในวันนี้ โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 232 ราย รวมถึงมีผู้เสียชีวิตด้วย 2 คน  ทั้งๆที่ภูเก็ต อยู่ระหว่างการดำเนินการคุมเข้มตามมาตรการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเกินกว่า 80% เกิดขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่กระจายไปทั่วเกาะ ทำให้วัคซีนซิโนแวตที่ฉีดไปแล้วยังเอาไม่อยู่ นอกจากนี้ภูเก็ตยังมีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้พบมีการติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ200 กว่าคนมาโดยตลอด จนกระทั่งติดอันดับ1ใน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดของประเทศไทยไปแล้ว

ทั้งนี้การติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว กลุ่มแรงงานประมง ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ ส่วนนักท่องเที่ยวจากโครงการ“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา  มีนักท่องเที่ยวจำนวน 28,197 คน พบผู้ติดเชื้อ 88 คน  คิดเป็นสัดส่วนของการติดเชื้อเพียง0.3% เท่านั้น

                             

ภูเก็ตติดท็อปเท็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดหลังเดลต้าลามหนัก

 

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การควบคุมโรคในพื้นที่ขณะนี้จังหวัดได้ดำเนินการ ตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มแรงงานต่างด้าวในแคมป์ กลุ่มแรงงานประมง กลุ่มชาวไทยใหม่ เป็นต้น จึงทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ย 200-250 คน  โดยสิ่งสำคัญคือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะต้องนำเข้าสู่ระบบการรักษา โดยทันที

 

นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่52/2564 ว่า สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ต อยู่ในช่วงการระบาด ในช่วงแรกติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟา ต่อมาติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตา วัคซีนที่ประชาชนฉีดแล้วป้องกันโรคโควิด-19 ได้ค่อนข้างน้อย แต่สามารถป้องกันการเจ็บหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว 85% ผู้ป่วยอาการเล็กน้อยปานกลาง 13% ผู้ป่วยอาการหนัก 1-2%

 

ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.64 ผู้ป่วยโควิดในภูเก็ตติดเชื้อสะสม จำนวน 5,014 คน จากภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ตั้งแต่ 1 ก.ค.-3 ก.ย.64 ติดเชื้อสะสม จำนวน 85 คน ข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่วันที่ 3 ก.ย.64 จำนวน 242 คน เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 170 คน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ในอาทิตย์ที่ผ่านมา มียอดสูง วันละ 200-250 ราย บางวันสูงมาก

ทีมสาธารณสุข เข้าตรวจเชิงรุก เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ ชุมชนชาวไทยใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 245 คน มีกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในชุมชนจำนวน 144 ราย ให้ทำ Home Quarantine ได้สั่งปิดงดเดินทางเข้าออกพื้นที่ เป็นเวลา 14 วัน และแยกกักตัวแล้ว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

จากนั้นได้ไปตรวจคัดกรองด้วย ATK ที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ทุกแดนไม่เจอ มีตรวจเจอแดนที่ 5 เป็นผู้ต้องขัง กลุ่ม 608 เป็นคนที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัว มีไข้ 6 คน ทำ ATK จำนวน 219 คน พบติดเชื้อ จำนวน 191 คน คิดเป็น 91% ทุกคนได้ฉีดวัคซีนประมาณ 94-95% ทำให้มีอาการไม่มาก โดย ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จะเข้าไปคัดกรองโรคด้วยการเอ็กซเรย์ปอด และ สั่งซีลพื้นที่ในเรือนจำจังหวัดภูเก็ตแล้ว เมื่อพบคนป่วยต้องรีบนำมารักษา

 

จากข้อมูล ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.64 พบว่ามีคนป่วยจากโควิดน้อย สาเหตุมาจากเริ่มฉีดวัคซีน สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟาได้ และ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เจอสายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดในแหล่งชุมชนแออัดรวมทั้งสถานที่ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

 

ข้อมูล ตั้งแต่ 1 ก.ค.ถึง 3 ก.ย.64 พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 มาจากคลัสเตอร์ตลาดชุมชนเมือง ชุมชนแออัด ชาวไทยใหม่ แคมป์ก่อสร้าง เรือประมง แพปลา บริษัท ห้าง โรงงาน Import รวม 4,362ราย ปัจจุบัน มีเตียงทั้งหมด จำนวน 2,222 เตียง ครองเตียง 1,696 เตียง และเตียงยังว่าง 528 เตียง เฉพาะรองรับผู้ป่วยสีเขียว ตอนนี้ผู้ป่วยสีเหลือง เส้นกราฟเริ่มตึงมาก ส่วน การตรวจ ATK จำนวน 32,972 เคส พบติดเชื้อ 1,949 คน คิดเป็น 6% เป็นผู้ป่วยสีเขียว 85% ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ

 

ถ้าสมมติว่า ตรวจคน จำนวน 1 แสนคน คิดเป็น 6% จะเป็นติดเชื้อ 6,000 คน จะเอาผู้ป่วยจำนวนมากเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน เนื่องจาก เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง มีข้อจำกัดไม่สามารถขยายเตียงได้ ตอนนี้โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยสีเขียวแล้ว อาจต้องปรับเปลี่ยนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ดังนั้น ชุมชนท้องถิ่นต้องช่วยกันโดยขยายศูนย์ CI และ Hotel Isolation หรือให้กักตัวที่บ้าน โดยมีทีมแพทย์สื่อสารกำกับดูแล

 

การประเมินสถานการณ์ สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการระบาดเกิดขึ้นในทั้ง 3 อำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมือง ภาพรวมจังหวัดอัตราการใช้เตียงผู้ป่วยทุกประเภทยังสูง เหลือเตียงว่าง ร้อยละ 23.67 การค้นหาเชิงรุกด้วยวิธี ATK ครอบคลุมระดับตำบล ภาพรวมอัตราการตรวจพบผลบวก (Probable) ร้อยละ 5.9 มึการจัดหา CI และ Hospitel เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ มีการทำ Seal พื้นที่ ชุมชน แคมป์ ที่พบการระบาด  นายแพทย์กู้ศักดิ์ กล่าว

ภูเก็ตติดท็อปเท็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดหลังเดลต้าลามหนัก

ทางด้าน นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า เชื้อเดลตาเข้ามาระบาดในภูเก็ต 70% ชัดเจนว่าฉีด 2 เข็มไม่ป้องกันการติดโควิด-19 ปัญหาคือ ถ้าเคสมีกว่า 200 คนมากขึ้น วิกฤตเกิดกับการที่มีคนไข้สีเหลืองและแดง

 

ขณะนี้อัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนเต็มและล้น เป็นวิกฤตแล้ว อัตราครองเตียง 80% ในโรงพยาบาลหลัก ได้ขยายเตียงไปที่โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ที่เคยรับผู้ป่วยสึเขียวเป็นรับผู้ป่วยสีเหลืองแทน ถ้าให้ชุมชนช่วยดูแลผู้ป่วยสีเขียวจะลดการมาโรงพยาบาลได้ ทางโรงพยาบาลตัองการเก็บเตียงให้ผู้ป่วยที่มีอาการได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

วัคซีนที่ฉีด 2 เข็ม เอาไม่อยู่กับเดลตาเราได้ขยายศูนย์ CI ,Hospitel Isolation หลายแห่งแล้ว คนไข้ 85% เป็นสีเขียว จะให้ท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบ จัดผู้ป่วยสึเขียวใหัอยู่บ้านหรือ Hospitel ส่วนระบบสาธารณสุขเราดูแลให้ ต้องช่วยกันดูแลต้องการเก็บเตียงในโรงพยาบาลให้คนไข้ที่จำเป็นจริง ๆ ให้สาธารณสุขไปรอด ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เดินต่อได้ ต้องปรับตามสถานการณ์ เพื่อภูเก็ตเดินหน้าต่อสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้

 

นอกจากนี้ ต้องระดมวัคซีนเข็ม 3 ในวันที่ 9 กันยายน นี้ จะเริ่มฉีดให้ด่านหน้า ประมาณ 9,000 คน และในเข็ม 1 เข็ม 2 ผู้สูงอายุ มีวัคซีนเหลืออีกกว่า 2 หมื่นโดส จะต้องระดมฉีดวันละ ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน ถ้าจะให้เดินหน้าต่อ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ไม่ถูกปิด ต้องทำให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยสีเขียวให้น้อยลง ดังนั้น ท้องถิ่นต้องร่วมกันดูแล เพื่อสามารถรับนักท่องเที่ยว ช่วงหน้าไฮซีซั่นในเดือนตุลาคม นี้ได้ ” นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าว