วัคซีน Moderna กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่า Pfizer 2.6 เท่า

02 ก.ย. 2564 | 09:27 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 22:08 น.
1.1 k

หมอเฉลิมัชยเผยผลวิจัยพบวัคซีน Moderna กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่า Pfizer 2.6 เท่า ระบุนกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 35 ปี จะมีภูมิขึ้นสูงกว่ากลุ่มอายุ 35-55 ปี และกลุ่มที่อายุมากกว่า 55 ปี

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
วัคซีน Moderna กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าวัคซีน Pfizer 2.6 เท่า
หลังจากที่มีโควิดระบาดในโลกมานานกว่าหนึ่งปีครึ่ง หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะควบคุมโรคระบาดก็คือวัคซีน
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ได้เร่งระดมสรรพกำลังในการวิจัยพัฒนาวัคซีนกันหลากหลายเทคโนโลยี หลากหลายบริษัท จนในขณะนี้ มีวัคซีนจำนวนมากถึง 128 ชนิด ที่กำลังทดลองในมนุษย์และอีกนับ 100 ชนิดกำลังทดลองในสัตว์ทดลอง
โดยวัคซีนที่ทดลองในมนุษย์
เฟสหนึ่ง 53 ชนิด
เฟสสอง 43 ชนิด
เฟสสาม 32 ชนิด
โดยเทคโนโลยีที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลาย ประกอบด้วย
1.เทคโนโลยีเชื้อตาย เช่น Sinovac และ Sinopharm
2.เทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ เช่น AstraZeneca , Johnson&Johnson
3.เทคโนโลยี mRNA เช่น Pfizer และ Moderna
4.เทคโนโลยีใช้โปรตีนเป็นฐาน เช่น Novavax  และ Abdala

แต่ในเบื้องต้น ถ้ากล่าวเฉพาะการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าแอนตี้บอดี้ (Antibody) โดยที่ไม่พิจารณาภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ (Cellular Immunity)จะพบว่าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA จะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงมากกว่า 90%
แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนเทคโนโลยี mRNA สองชนิดว่า ในการฉีดให้กับบุคลากรลักษณะใกล้เคียงกัน ในห้วงเวลาเดียวกัน วัคซีนใดจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่ากัน

โมเดอร์นา กระตุ้มภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่า ไฟเซอร์ 2.6 เท่า
ขณะนี้ได้มีรายงานการศึกษาจากประเทศเบลเยียม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำ JAMA ( Journal of the American Medical Association) สรุปได้ว่า
วัคซีนของ Moderna สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าวัคซีนของ Pfizer 2.6 เท่า โดยมีรายละเอียดคือ
เป็นการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ของเบลเยียม โดยจำนวน 688 ราย ฉีดวัคซีน Moderna และ 959 ราย ฉีดวัคซีน Pfizer
โดยทั้งสองกลุ่ม มีสัดส่วนของอายุ เพศ และการเคยติดเชื้อมาก่อน ที่ใกล้เคียงกัน
เมื่อฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว จะทำการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันที่ระยะเวลา 6-10 สัปดาห์หลังฉีดเข็มสอง(ในช่วงวันที่ 27 เมษายนถึง 20 พฤษภาคม 2564 )
พบว่าในกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนวัคซีน Moderna กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้น 2881 หน่วย ( U/mL) ในขณะที่ของ Pfizer ขึ้น 1108 หน่วย ต่างกันถึง 2.6 เท่า
และในกรณีที่เคยติดเชื้อมาก่อน 
ของ Moderna สร้างภูมิคุ้มกันได้ 10,708 หน่วย ของ Pfizer ได้ 8174 หน่วย
และยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 35 ปี จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าในกลุ่มอายุ 35-55 ปี และในกลุ่มที่อายุมากกว่า 55 ปี
การศึกษาครั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดสองประการคือ
1.ไม่ได้ดูระดับภูมิคุ้มกันย่อย ที่เรียก NAb
2.ไม่ได้ศึกษาดูภูมิคุ้มกันที่ใช้เซลล์( Cellular Immunity)

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพยายามหาเหตุผลว่า ทำไมวัคซีนซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ถึงให้ระดับภูมิคุ้มกันต่างกันถึง 2.6 เท่า
คาดว่าน่าจะเกิดจาก
1.วัคซีนของ Moderna มีปริมาณวัคซีนมากกว่าของ Pfizer คือ Moderna ฉีด 100 ไมโครกรัม ส่วนของ Pfizer ฉีด 30 ไมโครกรัม
2.วัคซีน Moderna ฉีดห่างกันสี่สัปดาห์ ในขณะที่ของ Pfizer ฉีดห่างกันสามสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม วัคซีนทั้งสองชนิด ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วยหนัก และมีผลข้างเคียงทั้งชนิดเล็กน้อยและชนิดรุนแรงใกล้เคียงกัน
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศุนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-31 ส.ค. 64 มีการฉีดสะสมแล้ว 32,600,001 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 23,795,098 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 8,212,750 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 592,153 ราย
ส่วนสำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 2 กันยายน 2564 พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 14,956 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,600 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 356 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,205,624 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 262 ราย หายป่วย 17,936 ราย กำลังรักษา 163,680 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,031,278 ราย