1 กันยายน รำลึก 31 ปี การจากไป สืบ นาคะเสถียร

01 ก.ย. 2564 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 21:19 น.
820

1 กันยายน ปี 2564 ครบรอบ 31 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ย้อนรำลึก วีรบุรุษ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ยอมแลกด้วยชีวิต

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่บทความ รำลึก 31 ปี การจากไปของ ' สืบ นาคะเสถียร ' ว่า แม้กาลเวลาจะพัดพาเรื่องราวการกระทำของ สืบ นาคะเสถียร ให้เหลืออยู่เพียงในความทรงจำ แต่ก็เป็นความทรงจำที่ใครหลายคนนำมาใช้เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ และมาสานต่อจนเป็นรูปเป็นร่างตามเจตนารมย์ผู้วายชนม์

1 กันยายน รำลึก 31 ปี การจากไป  สืบ นาคะเสถียร

ภาพนั้นปรากฏชัดมาตั้งแต่ 18 วันหลังการจากไปของสืบ เมื่อเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันก่อตั้ง ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินเจตนานั้นต่อไป

อีกหนึ่งปีต่อมา ‘ผืนป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง’ ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย อันเป็นหลักประกันสำคัญของการดูแลผืนป่าใหญ่ที่สำคัญและอุดมสมบูรณ์ของประเทศไว้ ก็เป็นผลมาจากการหามรุ่งหามค่ำเขียนรายงานนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกของสืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต-ค๊อกซ์

1 กันยายน รำลึก 31 ปี การจากไป  สืบ นาคะเสถียร

ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนั้น ทำให้กลุ่มป่าตะวันตกยังคงเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยนำเอารูปแบบการจัดการของทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งไปขยายยังป่าข้างเคียงจนครบทั้งกลุ่มป่า 

ดังปรากฎชัดในเรื่องการกระจายตัวของเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศป่าไทย และเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า ไปยังพื้นที่อนุรักษ์รอบๆ และมีแนวโน้มจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี

สืบ นาคะเสถียร เคยบอกว่า “ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”

สิ่งนี่บทเรียนที่เขาได้รับจากการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน ก่อนนำมาขยายภาพชัดให้เห็นในการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน และได้ถูกส่งต่อถึงภาคประชาชนที่นำบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ในการต่อสู้คัดค้านการการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าอนุรักษ์

 

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” คำนี้ สืบ นาคะเสถียร พูดขึ้นในเวทีสิ่งแวดล้อม 33 เป็นการประกาศเจตนารมย์ที่จะปกป้องสัตว์ป่าที่ใครหลายคนในเวทียังคงจดจำน้ำเสียงของผู้พูดได้เป็นอย่างดี

เพราะสัตว์ป่าพูดด้วยตัวเองไม่ได้ ในวันนี้ผู้คนที่รักและหวงแหนในการดำรงอยู่อย่างสมดุลของสัตว์ป่าในระบบนิเวศ ต่างล้วนพูดในคำเดียวกับสืบ 

แม้ทุกวันนี้ค่านิยมการล่าการกินสัตว์ป่าจะยังปรากฎอยู่ ทั้งเกิดช่องทางใหม่ๆ ในการซื้อขาย แต่ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ต่างแสดงออกอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งล้าหลัง และพร้อมจะใช้เครื่องมือใหม่ๆ ส่งเสียงปกป้องสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ต่างก็ยิ่งทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเชื่อมของโรคระบาดที่ข้องเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า และการสูญเสียระบบนิเวศเพิ่มมากขึ้น

 

เช่นเดียวกับความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

สืบเคยวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งสืบต้องกลับไปขอยืมเงินจากทางบ้าน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกจ้างที่ตกเบิกไปก่อน

 

ภารกิจแรกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อก่อตั้งองค์กร คือ การตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อช่วยเหลือทั้งสวัสดิภาพและสวัสดิการบางส่วนที่รัฐยังทำไม่ได้

ปัจจุบัน มีทั้งภาคเอกชน สาธารณชน ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากันอย่างท่วมท้น ตั้งแต่เรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ปัจจัยต่างๆ ไปจนถึงการผลักดันเชิงนโยบาย ที่วันนี้นำไปสู่การก่อตั้ง ‘มูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่า’ 

 

ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ สืบ นาคะเสถียร ได้เริ่มไว้ และได้รับการสานต่อ ซึ่งยังมีงานวิจัยอีกหลายเรื่องที่นักวิจัยรุ่นใหม่เดินตามรอยผลงานของรุ่นพี่ด้วยการนำไปขยายผลในการดูแลผืนป่าและสัตว์ป่ามาถึงปัจจุบัน 

ตลอดจนแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านในด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับผืนป่าและสัตว์ป่าโดยตรง

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น คือการเติมเต็มความหวังอย่างเป็นรูปธรรมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผืนป่าและสัตว์ป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ ยับยั้งวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งต่อไปยังอนาคตข้างหน้า... สืบต่อไป…

 

ร่วมรักษาป่าใหญและสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร www.seub.or.th/donate/

1 กันยายน รำลึก 31 ปี การจากไป  สืบ นาคะเสถียร

ทั้งนี้ สืบ นาคะเสถียร (31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 – 1 กันยายน พ.ศ. 2533) เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

ที่มา :  วิกิพีเดีย