10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิดในไทย ซิโนแวค-ซิโนฟาร์มจะเป็นแค่ทางผ่าน

24 ส.ค. 2564 | 18:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 01:38 น.

หมอธีระวัฒน์เผย 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิดในประเทศไทย ชี้ต่อไปซิโนแวคและซิโนฟาร์มจะเป็นเพียงทางผ่านหรือขัดตาทัพ

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยถือว่ายังคงวิกฤต แม้ว่าตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง โดยวันนี้ (24 ส.ค. 64) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 17,165 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,973 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 192 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,055,088 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 226 ราย หายป่วยกลับบ้าน 20,059 ราย กำลังรักษา 192,334 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 854,403 ราย  
ขณะที่เรื่องของการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนในประเทศก็ดูจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยล่าสุดผู้บริหารของแอสตร้าเซนเนก้าจะรับปากส่งมอบวุัคซีนให้กับไทยจำนวน 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี และจะช่วยให้จำนวนยอดการจัดหาวัคซีนทุกประเภทในสิ้นปีนี้รวมกันเกินกว่า 120 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าจะจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน 
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
วัคซีนโควิดฉบับพิสดาร..
(เพราะของมีไม่พอ และของที่มีปัจจุบันด้อยลงเรื่อยๆ..)
หมอดื้อ
24/8/64

วัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ต่อจากนี้จะเป็นเพียง
 “ทางผ่าน” หรือ “ข้ดตาทัพ” เท่านั้น แต่แม้มีวัคซีนอื่นๆเข้ามาพอ และค่อยๆเลิกทางผ่านนี้ แต่ต้วอื่นๆก็จะกลายเป็นทางผ่านในอนาคตอันใกล้ ถ้าการระบาดคุมไม่ได้และมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ
1.ธรรมชาติของแต่ละยี่ห้อ
ซิโนแวค ภูมิคุ้มกันขึ้นช้าตกเร็ว
ยี่ห้ออื่น AZ (AstraZeneca ) หรือ mRNA ขึ้นเร็วตกช้ากว่า
2.ซิโนแวคต้อง 2 เข็ม จะเริ่มเห็นภูมิคุ้มกันที่หนึ่งเดือนหลังเข็มสอง
ยี่ห้ออื่นจะเริ่มเห็น ตั้งแต่สองอาทิตย์หล้งเข็มหนึ่ง และเต็มที่ตั้งแต่สองอาทิตย์หลังเข็มสอง
3.แต่แล้วซิโนแวค ซิโนฟาร์มสู้สายพันธุ์อื่นนอกจากสายพันธุ์ตั้งเดิมได้ไม่ดี เริ่มตั้งแต่สายอังกฤษอัลฟา และจนถึงเดลตา จะมีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งการป้องกันการติดเชื้อ แม้ว่าระดับภูมิยังสูง เช่นความสามารถในการยับยั้งไวรัสเกิน 68% ก็ตาม โดยเฉพาะ ถ้ายิ่งลดลงไปอีก การป้องกันอาการหนักและเสียชีวิตจะด้อยลงช้ดเจน

วัคซีนโควิด-19
4.ทั้งนี้วัคซีนอื่น แอสตร้า และ mRNA ขึ้นอยู่กับระดับภูมิเช่นกัน โดยถ้ายังสูงอยู่ ยัง “พอยัน” เดลตาได้ แต่ก็ไม่ดีเท่าอัลฟ่า และเมื่อภูมิลดลงก็กระตุ้นด้วยยี่ห้อเดิม ยกเว้นแอสตร้า 2 เข็ม ถ้ากระตุ้นด้วย mRNA น่าจะได้มูลค่าเพิ่มดีกว่า
5.ทำให้ต้องมีการควบรวมหลายยี่ห้อเข้าด้วยกันกับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ทั้งนี้เพื่อต้องให้ได้กำไรสองต่อ
กำไรต่อที่หนึ่งก็คือ ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ตกไปแล้วสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทันการณ์
กำไรต่อที่สองก็คือทำให้ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นนั้นสามารถต่อต้านกับเดลตาหรือสายพันธุ์อื่นได้แต่ต้องติดตามว่าอยู่ได้นานเพียงใด?

6.ข้อมูลในประเทศไทยชิโนแว็กสองเข็ม ตามด้วย 
แอสตร้า ไม่ว่าฉีด”เข้ากล้าม”หรือฉีด “เข้าชั้นผิวหนัง” จะได้ตรงตามเป้าหมายในข้อห้า
7.วัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ต่อจากนี้จะเป็นเพียง “ทางผ่าน”ให้วัคซีนอื่นๆเข้ามาควบ ทำให้มีกำไรเพิ่มและป้องกันโรคเท่านั้น จะเป็นตัวโดดๆ ไม่ได้ และจะซ้ำเป็นเข็มสามก็ไม่ดี 
ข้อสำคัญ ทางผ่านนี้ต้องฉีดเต็มสองเข็มก่อน ฉีดด้วยเข็มเดียวและต่ออย่างอื่นไม่ได้กำไรเท่าไหร่
8.ตราบใดที่โควิดยังเก่งกาจสามารถกลายพันธุ์ได้เก่งมากเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง แม้ชื่อพันธุ์เดิมยังมีสายย่อยๆ การกดดันโควิดต้องเข้ม
9.การกดดันที่สำคัญคือการ ”คัดกรอง” ว่าติดหรือไม่ด้วยการตรวจที่เข้าถึงได้ทุกคนและแยกตัวทันทีเพื่อไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่องและ “หน่วง” การระบาดได้เป็นพักๆ ร่วมกับวินัย และทำให้จำนวนผู้ป่วยอาการหนักชะลอตัวทำให้รักษาได้เร็วที่สุด และกดหัวให้ไวรัสนิ่งที่สุด
10.วัคซีนภาคพิสดารต้องครอบจักรวาลเล็งทั้งสายพันธุ์ที่มีปัจจุบันและอนาคต
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศล่าสุดนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-23 ส.ค.64 มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 27,612,445 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 20,830,673 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 6,230,511 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 551,261 ราย