เนชั่นสัมมนาฟันธง"นวัตกรรม"โอกาสฟื้นฟูประเทศหลังโควิด

20 ส.ค. 2564 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 21:35 น.

    สุพัฒนพงษ์ย้ำเศรษฐกิจนวัตกรรม คือโอกาสฟื้นฟูประเทศหลังโควิด ชู 4D สร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หนุนเอกชนแข่งขันโลก “รุ่งโรจน์” ชี้โควิดสายพันธุ์เดลตาตอกย้ำไทย ต้องปรับตัวอยู่กับเชื้อนี้ให้ได้ เอกชนหนุนเทคโนโลยีสร้างแบบแผนชีวิต-ธุรกิจใหม่ที่ต้องปรับให้ทัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน Virtual Seminar เรื่อง Thailand Next Innovation Beyond Business โอกาสนวัตกรรมเศรษฐกิจ ของกลุ่มเนชั่น ว่า เศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี จะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยฟื้นฟูประเทศหลังโควิด

 

ซึ่งเห็นความได้เปรียบชัดเจนในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ที่ประเทศพัฒนาแล้วสามารถพัฒนาวัคซีนขึ้นมารับมือได้ภายในปีเดียว จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี รวมถึงเป็นวัคซีนนวัตกรรมใหม่คือ mRNA ที่ไทยต้องกลับมาสนใจและเร่งพัฒนาอย่างเต็มที่
     

ที่ผ่านมาเอกชนไทยปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ แต่ยังเป็นลักษณะของการซื้อนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากกว่า เพราะง่ายและสะดวก เนื่องจากธุรกิจไทยอาจยังไม่เข้มแข็งมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรขนาดเล็ก เน้นใช้แรงงานมาก แต่เริ่มมีข้อจำกัดขาดแรงงาน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องรีบแก้จุดอ่อนเร่งลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
     

รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ย้ำว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสร้างระบบนิเวศ (อีโคซิสเต็ม) เพื่ือรองรับความต้องการของภาคเอกชน ผ่าน “โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4D” ได้แก่
 

1.Digitalization คือ วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทั ลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ
     

2.Decarbonization มุ่งส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และมลภาวะ 
    

3.Decentralization ลดการควบคุมจากศูนย์กลาง มุ่ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยมีฐานผลิตและเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยว และการดูแลสุขภาพ และดิจิทัล ตั้งเป้าเริ่มจากกลุ่มท่องเที่ยวและสุขภาพ เพราะทำได้เร็ว
     

4. De-risk ใช้ประโยชน์จากการลดอุปสรรคหรือความเสี่ยง ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไทย ทั้งระบบสาธารณสุขที่ดีจากการรับมือโควิด-19 ความหลากหลายของอาหารที่ดี ราคาไม่แพง เป็นจุดแข็งที่จะดึงดูดให้ผู้มีรายได้สูงมาอยู่ในไทยในระยะยาว และมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2
     

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเดียวกันว่า โควิดสายพันธุ์เดลตาทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไป แม้กระทั่งคำว่าวิถีปกติใหม่ (New Normal) ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็น Now Normal หรือ การที่ต้องอยู่กับเชื้อโควิด-19ให้ได้
     

คำว่า Now Normal ทำให้เกิดแนวโน้มทางธุรกิจสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 

1.นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ควบคู่กับวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อให้ตอบโจทย์ตรงจุด 
    

2.นำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต (Well being) ในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม เช่น บ้านไม่เพียงที่อยู่อาศัยแต่ต้องรองรับการทำงานได้ ตอบสนองการใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น “แม้กระทั่งห้องน้ำ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ระบบเซนเซอร์ หรือระบบอัจฉริยะแทนการสัมผัส”
     

3.การให้บริการด้านสุขภาพ มองทั้งด้านรักษาและป้องกัน ทำอย่างไรให้คนไปโรงพยาบาลน้อยที่สุดด้วยการเสริมให้สุขภาพดี ใช้เวลาพัฒนานวัตกรรมเร็วขึ้น เช่น วัคซีน mRNA จากเดิมต้องใช้เวลา 10-15 ปี แต่ปัจจุบันนี้ 1-2 ปี ก็เห็นผล
   

 4. เกษตรสมัยใหม่หรือเกษตรประณีต เน้นผลลัพธ์มากกว่าปริมาณ ตรงความต้องการของตลาด นำนวัตกรรมมาปรับใช้ ทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์จากน้ำ พันธุ์พืช การใช้เซนเซอร์ ต่อยอดถึงการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาจับคู่ระหว่างอุปสงส์-อุปทาน
     

5. เรื่อง Environment Social Government หรือ ESG โดย E-สิ่ง แวดล้อม ทุกภาคธุรกิจจะถูกปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติให้เข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด S - ความเหลื่อมล้ำ ระดับล่างกับกลางต่างกันมากขึ้น ธุรกิจต้องเข้ามาช่วยลดช่องว่าง และ G -การบริหารจัดการองค์กร พนักงาน และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ความต่างระหว่างรุ่น ทำอย่างไรให้อยู่กันได้
    

“สายพันธุ์เดลตามาบอกว่าโควิดจะอยู่กับไปอีกนาน เราต้องปรับให้อยู่ร่วมกับโรคให้ได้ โดยการปรับตัวต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เปลี่ยนได้เร็วและทันเวลา เห็นโอกาสในภาวะวิกฤตที่เผชิญอยู่ให้ได้”

ขณะที่เวทีเสวนา นวัตกรรมกับโอกาสธุรกิจนั้น ดร.สาธิต วิทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติโควิดผลักคนไทยวิ่งสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยครึ่งปีมานี้ธุรกิจเฮลท์แคร์โตก้าวกระโดด

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น” ของบริษัท ที่ทำโรดแมปสู่ 4.0 เฮลท์แคร์ แพลตฟอร์ม ที่มีทั้งแผนลงทุนขยายโรงพยาบาลให้ได้ 20 แห่ง คลีนิก 100 คลีนิก ภายใต้กลยุทธ์ผนึกกำลังพันธมิตร
     

ดร.สาธิตย้ำว่า เฮลท์แคร์ แพลตฟอร์ม อินโนเวชั่น เป็นสิ่งสำคัญ รวมคน กระบวนการ และเทคโนโลยี จนผนึกเป็นดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงกระบวนการให้เกิดผล ดังกรณี Home Isolation สู้โควิด ถือเป็นการดิสรัปท์ เฮลท์แคร์เมืองไทย ให้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้หมอรักษาคนไข้ได้แม้อยู่ที่บ้าน จนกลายเเป็นชีวิตประจำวัน
    

ขณะที่ ศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร กล่าวว่า สถาบัน VISTEC พยายามพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ดิจิทัล พลังงาน การแพทย์ และ เทคโนโลยีชีวภาพ ทำหน้าที่สร้างบ่มเพาะ สร้างองค์ความรู้ สร้างผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างคน ที่จะมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สำคัญของไทย คือ การต้องเร่งสร้างบุคลากรในด้านนี้อย่างจริงจัง
   

 “เราต้องการสร้างหัวรถจักร ที่มีความรู้จริงและมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร เพื่อเป็นหลักในการสร้างโซลูชั่น หรือ แพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจยุคหน้า ไม่ใช่แค่เขียนโปรแกรม แต่ต้องพัฒนา AI ไปใช้ได้จริง โดยสถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านนี้ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสมองกลให้ประเทศ”
     

นางสาวปฐมา จันท รักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บทเรียนจากโควิด-19 คนต้องทำงานหรือเรียนจากที่บ้านนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านออนไลน์ยังพร้อมแค่ 5 ใน 10 และต้องเร่งปรับสู่ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
     

ทั้งนี้ เทคโนโลยีสร้างให้เกิดอาชีพใหม่ อย่างอาชีพฟรีแลนซ์อิสระ Gig Woker เพื่อรองรับกับสังคมออนไลน์ เศรษฐกิจแบ่งปัน และพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ ที่จะต้องมีทักษะทางด้านธุรกิจ ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำ และมีการอบรมฟื้นหรือยกระดับทักษะ โดยที่การใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า ไม่จำกัดเฉพาะผู้บริหารหรือคนไอที แต่เป็นทักษะพื้นฐานของคนทำงานทั่วไป
    

สำหรับผู้นำองค์กร ต้องปรับตัวโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน หรือคู่ค้ามากขึ้น ซึ่งไม่ต้องตอบทันที แต่ต้องนำสิ่งที่รับฟังมามาปรับ นอกจากผู้นำจะต้องดูแลตัวเอง ครอบครัว ขณะเดียวผู้นำองค์กรจะต้องมีความคิดตั้งแต่เริ่มต้น เปิดกว้างนวัตกรรม มีความคิดอยากเห็นนวัตกรรมของไทยออกไปสู่ตัวตลาดโลก และต้องการการลงทุนวิจัยและพัฒนา รวมถึงการผลักดันนวัตกรรมออกสู่ตลาด


หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,707 วันที่ 22-25 สิงหาคม พ.ศ.2564