ชัดเจนแล้ว!ติดเชื้อโควิด-ตายต่างจังหวัดมากกว่า กทม.และปริมณฑล

19 ส.ค. 2564 | 19:13 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 02:12 น.

หมอเฉลิมชัยเผยแนวโน้มโควิดของประเทศไทยชัดเจนแล้ว ชี้ผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตต่างจังหวัดมีมากกว่า กทม.และปริมณฑล

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
แนวโน้มโควิดของประเทศไทยชัดเจนแล้ว ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในเขตต่างจังหวัด มีมากกว่าเขตกรุงเทพและปริมณฑลแล้ว
สถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2564
โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากสถานบันเทิงในเขตกรุงเทพและปริมณฑล หลังจากนั้นก็มีการระบาดอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง จากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษเดิม) เปลี่ยนมาเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดียเดิม) ในปัจจุบันนี้
แม้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีการผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถออกเดินทางกลับต่างจังหวัดได้ แต่การระบาดของโควิด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในเขตต่างจังหวัด ก็ยังน้อยกว่าเขตกรุงเทพและปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงเดือนสิงหาคม เราได้พบเห็นการติดเชื้อที่ทยอยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ในต่างจังหวัด
มีหลายปัจจัย ที่ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ การมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวนมากในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้จำนวนเตียงไม่พอรองรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด เพื่อรักษาตัว ซึ่งยังพอมีเตียงในสถานพยาบาลอยู่บ้าง ทั้งในโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม
จึงทำให้จำนวนสถิติตัวเลขของต่างจังหวัดเริ่มทยอยสูงขึ้นอย่างชัดเจน จนถึงขณะนี้ ตัวเลขดังกล่าว ก็ชัดเจนแล้วว่า ต่างจังหวัดมีการติดเชื้อสะสมมากกว่า

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อตามพื้นที่
โดยต่างจังหวัด (71 จังหวัด) รวมกันมีผู้ติดเชื้อสะสม 4.62 แสนคน ในขณะที่กรุงเทพและปริมณฑลรวม 6 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อ 4.41 แสนคน

เฉพาะในวันที่ 19 สิงหาคม 2564 
ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด 12,103 คน กรุงเทพและปริมณฑล 8,627 คน
เสียชีวิตในต่างจังหวัด 159 คน
เสียชีวิตในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 141 คน
แต่ 5 อันดับแรกที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด ยังคงพบว่าเป็นเขตกรุงเทพและปริมณฑลมากถึง 4 ลำดับประกอบด้วย
1.กรุงเทพฯ 230,419 คน
2.สมุทรปราการ 63,285 คน 
3.สมุทรสาคร 60,259 คน
4.ชลบุรี 50,744 คน
5.นนทบุรี 38,269 คน

10 จังหวัดติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด
เนื่องจากเป็นการสะสมของผู้ที่ติดเชื้อในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม แต่ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ได้เคลื่อนไปอยู่ในเขตต่างจังหวัดแล้วอย่างชัดเจน จึงทำให้มาตรการที่จะใช้ในการควบคุมการระบาด มาตรการในการรองรับผู้ป่วย มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนมาตรการเร่งฉีดวัคซีน จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 19 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 20,902 ราย
ติดในระบบ 16,885 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 3845 ราย
ติดในสถานกักตัว 24 ราย
ติดในเรือนจำ 148 ราย
สะสมระลอกที่สาม 960,996 ราย
สะสมทั้งหมด 989,859 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 22,208 ราย
สะสม 747,901 ราย
รักษาตัวอยู่ 205,946 ราย
โรงพยาบาลหลัก 48,895 ราย
โรงพยาบาลสนาม 76,790 ราย
แยกกักตัว 73,888 ราย
อาการหนัก 5439 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1168 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 2841 ราย
สะสม 48,454 ราย
เสียชีวิต 301 ราย
สะสมระลอกสาม 8492 ราย
สะสมทั้งหมด 8586 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 25.167 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 19.143 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 5.503 ล้านเข็ม
เข็มที่สาม 0.519 ล้านเข็ม
ฉีดเพิ่ม 548,311 เข็ม