ข่าวดี ! นักวิทยาศาสต์ออสเตรเลียพบ 2 โปรตีนสำคัญในการพัฒนายารักษาโควิด-19

12 ส.ค. 2564 | 08:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2564 | 15:20 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลข่าวดี ล่าสุดนักวิทยาศาสต์ออสเตรเลียค้นพบ 2 โปรตีนสำคัญที่จะในการพัฒนายารักษาโควิด-19 ชี้ ที่จะทำให้หนามแหลมของไวรัสไม่สามารถเกาะเซลล์มนุษย์ จึงไม่สามารถก่อโรคได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ข่าวดี !! นักวิทยาศาสตร์ออสเตรียค้นพบสองโปรตีนสำคัญ ซึ่งจะใช้พัฒนาเป็นยารักษาโควิดได้อย่างมีความหวัง
นักวิทยาศาสตร์ของออสเตรียที่ IMBA ( Institute of Molecular Biotechnology of Austrian Academy of Sciences) ได้รายงานความคืบหน้าครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ว่า
พบโปรตีน (Sugar-binding protein) สองชนิด ที่เกี่ยวข้องกับหนามแหลม(Spike) ของไวรัสทำให้ไวรัสไม่สามารถเกาะเซลล์มนุษย์ และก่อโรคได้
โควิด-19 เป็นโรคใหม่ เกิดจากไวรัสใหม่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส จัดเป็นลำดับที่ 7
โดยโคโรนาไวรัส
ลำดับที่ 1-4 ก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดารู้จักกันมาหลายสิบปี
ลำดับที่ 5 ก่อให้เกิดโรค SARS
ลำดับที่ 6 ก่อให้เกิดโรค MERS
ลำดับที่ 7 ก่อให้เกิดโรคโควิด-19

วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าอย่างเร่งรีบ จนทราบโครงสร้างสำคัญของไวรัสว่า เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว RNA มีความยาวประมาณ 30,000 เบส และโครงสร้างที่สำคัญคือ เป็นทรงกลมและมีมงกุฎ(Corona) หรือหนาม(Spike) ยื่นออกมา
ในส่วนของหนาม ได้มีการศึกษาต่อไปว่า จะมีความจำเพาะในการจับกับหน่วยรับ (Receptor) ที่ผิวของเซลล์มนุษย์ ( ACE2) แล้วทำให้ไวรัสสามารถเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์มนุษย์ ก่อให้เกิดโรคได้ ถ้าเราสามารถทำให้ส่วนหนามเปลี่ยนแปลงไป หรือทำให้ส่วนหนามไม่สามารถเกาะกับตัวรับได้ ก็จะไม่เกิดโรคโควิดขึ้น

ค้นพบ 2 โปรตีนสำคัญในการพัฒนายารักษาโควิด-19
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรียได้ศึกษาพบว่า ไวรัสกลายพันธุ์ได้มีการสร้างสิ่งที่เป็นน้ำตาล (Sugar)มาหุ้มหนาม(Spike)ไว้อีกทีนึง เพื่อที่จะทำให้การตรวจจับของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตรวจไม่พบ ด้วยความโชคดีหรือความสามารถของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวก็ตามแต่ สามารถไปค้นพบโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่าเล็กติน (Lectin) ซึ่งเป็นโปรตีน ที่สามารถมาเกาะน้ำตาลในส่วนที่ไวรัสเอามาหุ้มส่วนหนามไว้ได้
เกิดจากการศึกษาค้นคว้าอย่างรู้จริง และทุ่มเทเสียสละ ค้นหา Lectin จาก 140 ชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพบสองชนิดคือ Clec4g และ CD209c ซึ่งสามารถจับกับน้ำตาลที่เกาะหนามแหลมอยู่ ทำให้หนามแหลมของไวรัสหมดสภาพ หรือหมดความสามารถในการเกาะเซลล์มนุษย์ ไม่สามารถมุดเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ โดยเฉพาะเซลล์ปอดได้ ก่อให้เกิดโรคไม่ได้นั่นเอง
ตำแหน่งที่โปรตีนดังกล่าวไปเกาะ พบว่าเป็นตำแหน่งที่ 343 ซึ่งมีข้อมูลที่สำคัญคือ ในตำแหน่งนี้ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงหรือหายไปของไวรัสก่อโรคโควิดเลย
ถ้าตำแหน่งนี้หายไป หนามจะไม่เสถียร และทำให้ไม่มีความสามารถในการติดเชื้อได้

ตำแหน่ง 343 เป็นตำแหน่งสำคัญของไวรัสทุกสายพันธุ์ ถ้าโปรตีนหรือยาตัวใด เข้าไปจัดการกับตำแหน่งนี้ได้ ก็น่าจะรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ด้วย
โปรตีนดังกล่าวทั้งสองชนิด ก็จะเป็นความรู้ตั้งต้นในการพัฒนายา ที่จะมาทำให้หนามแหลมของไวรัสไม่สามารถเกาะเซลล์มนุษย์ จึงไม่สามารถก่อโรคได้
คงจะต้องติดตามใกล้ชิดกันต่อไป
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 12 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า
ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 22,782 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,407 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 375 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 810,908 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 147 ราย หายป่วยกลับบ้าน 23,649 ราย กำลังรักษา 209,028 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 596,375 ราย