ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยข้อควรรู้ ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์

06 ส.ค. 2564 | 01:12 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 03:22 น.

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สรุปข้อควรรู้-แนวทางการใช้-สรรพคุณของยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ พร้อมอ้าแขน หากโรงพยาบาลอื่นสนใจจะผลิต ยินดีจะเข้าไปช่วยควบคุมดูแลมาตรฐาน

หลังจากที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ได้เปิดเผยความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาและคิดค้นสูตร “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ซึ่งถือเป็นตำรับยาน้ำเชื่อมต้านไวรัส ตำรับแรกของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส 


วันนี้จะมารวบรวมข้อมูลข้อควรรู้เกี่ยวกับ “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” โดยปกติตัวยานี้มีไว้สำหรับการรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่มีการรายงานเบื้องต้นว่าสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ยาเร็วในระยะเริ่มต้นของอาการ ซึ่งยาชนิดน้ำเชื่อมนี้ทำไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก รวมถึงผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการกลืนยาเม็ด 


-รายละเอียดในการพัฒนาตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ 
ยาสูตรน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการกลืน หรือผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยางเพื่อให้เข้าถึงตัวยานี้ได้ โดยการพัฒนาตำรับยานี้มีกระบวนการค่อนข้างท้าทายในระดับหนึ่ง


เนื่องจากด้วยตัวยาสำคัญและองค์ประกอบต่างๆ ค่อนข้างมีความยากลำบากในการพัฒนาเป็นสูตรน้ำเชื่อมเพราะยามีการละลายที่ไม่ค่อยดี จึงเห็นได้ว่าการรับประทานยาครั้งหนึ่งในการรักษาต้องใช้ยาในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป  


ด้านการผลิตทีมงานได้คัดเลือกและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานสากล รวมถึงมีการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตยาในโรงพยาบาล (Hospital preparation)  โดยตัวยาสามารถใช้งานตามระยะเวลา 30 วัน เก็บไว้ในอุณหภูมิ 30 องศา(หรืออุณหภูมิห้อง) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาวะฉุกเฉิน
 

-แนวทางการใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยเด็ก 
ยาฟาวิฟิราเวียร์มีการเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2014 ในญี่ปุ่นเพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่และประกาศในองค์การอนามัยโรคในการรักษาโรคอีโบล่า และในปี 2020 ได้มีการใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยในการรักษาโรคโควิด-19 


ในปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และมีอัตราการเกิดปอดติดเชื้อหรือเชื้อโควิด-19 ลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 50% เพิ่มขึ้นเป็น  80% -90% จากการติดตามการรักษา อย่างไรก็ตาม ในเด็กจะมีอาการเบากว่าผู้ใหญ่ คือ ยังมีสุขภาวะที่ดีและยังไม่ต้องการออกซิเจน ด้วยยังคงระดับออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95-96% ในส่วนใหญ่ 


ทั้งนี้ ยาทุกตัวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับยาเม็ดบดละลายน้ำ จะมีข้อดีคือสามารถบดละลายน้ำในปริมาณน้อยได้ แต่มีข้อเสีย คือ ยามีตะกอน อาจได้ปริมาณยาไม่แน่นอน และมีรสชาติขม ส่วนยาน้ำ มีข้อดีคือ พร้อมใช้งานและมีปริมาณยาคงที่ ส่วนข้อเสียคือ มีปริมาตรยามากกว่ายาน้ำทั่วไป

 

-วิธีการใช้ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์ 
สำหรับคุณลักษณะ ขนาดและวิธีการใช้ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัส โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร โดยให้รับประทานยาขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก  12 ชั่วโมง 


ขนาดและวิธีการใช้ยาในเด็ก วันแรก รับประทานขนาด 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ  2 ครั้ง และวันต่อมา ขนาด 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง แนะนำการให้ยาในเด็ก 5 วัน   ทั้งนี้ ความปลอดภัยในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กเล็ก สามารถใช้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 10 ปี 

 

สำหรับขนาดและวิธีการใช้ยาในผู้ใหญ่ วันแรกรับประทาน ขนาด 1,800 มิลลิกรัม วันละ  2 ครั้ง และวันต่อมาขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง กรณีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กก/ตรม. วันแรก รับประทาน ขนาด 2,400 มิลลิกรัม วันละ  2 ครั้ง และวันต่อมา ขนาด  1,000 มิลลิกรัม วันละ  2 ครั้ง 
 

ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ระบุว่า ได้มีการใช้ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์จริงในคนไข้เด็กจำนวนหนึ่งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์  และมีการติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิดเปรียบเทียบกับการใช้ยาเม็ดบดละลายน้ำ โดยได้ให้กับเด็กอายุช่วง 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน  12 ราย ติดตามการรักษาพบว่าการตอบสนองต่อการรักษาเป็นไปได้ด้วยดีไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง โดยเด็กสามารถกินยาได้ดี 

-แนวทางขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์
กรณีที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ให้อาหารทางสาย หรือมีความลำบากในการกลืนยาเม็ดที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือในรายผู้ที่แพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Rapid Antigen Test เป็นบวก สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อขอรับยาได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

-เปิดโอกาสให้รพ.อื่นที่สนใจสามารถผลิตได้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์เป็นยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้น และแพทย์จะต้องติดตามผลอย่างเป็นระบบ ด้วยตัวยามีอายุจำกัดเพียง 30 วัน การเก็บยาให้เก็บในอุณหภูมิ 30 องศา (อุณหภูมิห้อง) ปริมาตรของการใช้ยาซึ่งใช้ในปริมาตรที่มากโดยเฉพาะการใช้ยาในวันแรก และด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตที่ยังไม่มากพอ ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตยาน้ำได้จำกัดเพียง 300 รายต่อสัปดาห์


"หากโรงพยาบาลที่สนใจจะนำตำรับยาไปผลิตในโรงพยาบาล ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความยินดีและพร้อมเข้าไปช่วยควบคุมดูแลมาตรฐานด้วย เนื่องจากเราต้องการผลิตยาให้ได้อย่างรวดเร็ว และมีการกระจายอย่างกว้างขวางและทั่วถึง"

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด