“ไม่มี-ไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์” ตัวการทำให้ผู้ป่วยโควิดล้นเมือง

05 ส.ค. 2564 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2564 | 22:02 น.
5.1 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา

     ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วันที่ 3 ส.ค. 2564 ติดเชื้อรายใหม่ 18,901 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,158 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 743 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 652,185 ราย  

     ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 178 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 5,221 รายแล้ว และภาพรวมการเสียชีวิตทะลุ 5,315 รายแล้ว

     นอกจากนี้ ยังพบยอดติดเชื้อเข้าข่าย ตรวจวัดผลด้วยระบบ ATK อีก 2,470 ราย มียอดสะสม 5,835 ราย และยังมีรายงานว่ามีกลุ่มคนไข้อาการหนักที่มีอาการปอดอักเสบที่น่าวิตกอีก 4,893 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,046 ราย 

“ไม่มี-ไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์” ตัวการทำให้ผู้ป่วยโควิดล้นเมือง

     ทั้งนี้ หากพิจารณายอดผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-3 ส.ค. 64 พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่ม 18,901 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 623,322 ราย

     ขณะที่การได้รับวัคซีนสะสมทั่วประเทศตั้งแต่ 28 ก.พ. - 1 ส.ค. 2564 รวม 17,866,526 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 13,955,087 ราย  จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 3,911,439 ราย

     ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนไทยติดเชื้อรวดเร็ว จำนวนผู้เสียชีวิตที่พอกพูนทวีทุกวัน เพราะจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ในมือไม่เพียงพอ ในการฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อให้กับประชาชน จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตกอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับแทบไม่ทัน ประชาชนขาดความเชื่อมั่น โดนด่าทุกวัน ชนิดที่ “หายใจก็ผิด” แก้เกมกันไม่ติด

     เชื่อหรือไม่ ปัญหาใหญ่ที่ถามโถมเข้าใส่รัฐบาลอีกประเด็นหนักไม่แพ้กันอีก...ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เป็นตำรับยาหลักในการรักษาของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กำลังจะขาดมือ...

     ยาที่เป็นตัวออกฤทธิ์ต้านไวรัสโควิดที่ไทยใช้เป็นตัวป้องกันดูแลคนป่วยทั่วประเทศขาดมือ...โอว  มายก็อด...อย่าเชื่อทันที แต่โปรดพิจารณาจากข้อมูลดังต่อไปนี้

     2 สิงหาคม 2564 เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์อัปเดตสถานการณ์โควิด 19 ของไทย ออกมาระบุว่า...“ยอดผู้ป่วยน่าจะอยู่ในระดับ2หมื่นคน/วันแบบนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ มีคำเตือนจากสภาวิชาชีพเภสัชกรรมว่า อภ.ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เดือนละ 2-3 ล้านเม็ด ถ้ามีผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับนี้ และมีนโยบายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างรวดเร็ว เท่ากับว่า จะต้องใช้ยานี้วันละ 1 ล้านเม็ด ผู้ป่วยคนหนึ่งใช้ยาโดสละ 50 เม็ด

     เท่ากับว่า ภายในสัปดาห์หน้าประเทศจะขาดยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านโควิดอย่างแน่นอน

     ทางแก้ไขคือ “รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้โรงงานผลิตยาของเอกชน ที่มีมาตรฐานสูงระดับเดียวกันเข้ามาผลิตยาเพิ่มเติมไม่เช่นนั้น…” จินตนาการเอาได้ครับ

     ผมทวนกลับไปตรวจสอบแถลงการณ์สภาเภสัชกรรม โดย รศ.เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เรื่อง การผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ก็พบข้อมูลที่คนไทยควรเข้าใจสถานการณ์และหาทางป้องกันตัวกันให้ได้...

     สภาเภสัชกรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ในการเร่งการผลิตยาฟาวิทิราเวียร์ในไทย เพื่อสนองตอบความ ต้องการของการรักษาชีวิตผู้ป่วยโควิดถึงเดือนละประมาณ 30 ล้านเม็ด พร้อกับข้อเสนอที่น่าสนใจมาก

     นโยบายที่เร่งด่วนคืด....1.ปรับขั้นตอนการอนุมัตินํายาออกสู่ตลาดของสํานักงานคณะกรรมมการอาหารและยา ให้ทำคู่ขนานไปกับการกระจายยาสู่ตลาด เพื่อให้สามารถเร่งยาออกสู่ตลาดเร็วขึ้น

“ไม่มี-ไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์” ตัวการทำให้ผู้ป่วยโควิดล้นเมือง

     2.ในสถานการณ์ฉุกเฉินและเร่งด่วน เร่งรัดให้มีการผลิตยาทั้งหมดภายในประเทศ แทนการนําเข้า ทําให้เกิดความมั่นคงทางยา โดย

     - ให้องค์การเภสัชกรรมจ้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิต ช่วยผลิตยาฟาวิฟราเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมที่ให้ขึ้นทะเบียนตํารับยาแล้ว เพื่อให้ได้เดือนละ 30 ล้านเม็ด

     - ถ้าองค์การเภสัชกรรมจะผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมดเอง เดือนละ 30 ล้านเม็ด ซึ่งจะกระทบกําลังการผลิตยาจําเป็นอื่นๆ องค์การฯ จึงควรมีแผนการในการผลิตและประกาศรายการยาที่จะให้โรงงาน อุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศช่วยผลิตยาจําเป็นอื่น ๆ ทดแทน เพื่อป้องกันการขาดยาจำเป็น รายการอื่น

     อย่าลืมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19  มีความรุนแรงมากขึ้น ทําให้ความต้องการยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มมากขึ้น ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันละสองหมื่นคน ซึ่งต้องใช้ยาฟาวิราเวียร์ 50-70 เม็ดต่อคน จึงต้องการราว 1 ล้านเม็ด/วัน หรือ 30 ล้านเม็ด/เดือน และความต้องการจะเพิ่มขึ้นตามการติดเชื้อโควิด

     ถ้าประเทศยังไม่สามารถคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาความตึงตัวของปริมาณยาในประเทศ ทําให้ต้องทยอยกระจายยาให้ผู้ป่วย

     ดังนั้น นโยบายที่รัฐบาลควรเร่งดําเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางยา ของยาฟาวิพิราเวียร์ คือ รัฐบาลจําเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการสํารองยา และเมื่อองค์การเภสัชกรรมได้ทําการวิจัยและพัฒนาจนสามารถผลิตยานี้ได้ และได้ผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียนตํารับยาแล้ว รัฐบาลควรกําหนดนโยบายเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางยา เร่งรัดการผลิตยาทั้งหมดภายในประเทศทดแทนการนําเข้า ทําให้สามารถลดค่าใช้จ่ายการนําเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ที่มีราคาค่อนข้างสูงได้ส่วนหนึ่ง ทําให้เกิดการสร้างงานและ แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย

     จากนั้นทำอะไรครับ...ปรับมาตรการในการอนุมัติยาออกสู่ตลาดของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ยาออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น 

     แต่ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ในสถานการณ์ขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมกำลังเตรียมการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) ซึ่งเบื้องต้นกําลังการผลิตจะผลิตได้ 2-4 ล้านเม็ด/เดือน ที่โรงงานผลิตยา ถ.พระราม 6 และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาที่ปทุมธานี ซึ่งจะไม่ทันสถานการณ์และไม่สามารถรองรับความต้องการภายในประเทศได้ทั้งหมด

     ในช่วงนี้ที่มีความจําเป็นเร่งด่วน องค์การเภสัชกรรม ควรจ้างให้โรงงานผลิตยาในประเทศที่มีศักยภาพ ช่วยผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมไปพร้อมกัน การที่จะรอให้โรงงานอื่น ๆ ทําการวิจัยและขึ้นทะเบียนตํารับยาเพื่อผลิตยาฟาร์วิพิราเวียร์ของตนเองต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย  6-12 เดือน

     สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายในสถานการณ์ฉุกเฉินและเร่งด่วน 1.ปรับขั้นตอนการอนุมัตินํายาออกสู่ตลาดของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยทําคู่ขนานไปกับการกระจายยาสู่ตลาด

     2.สนับสนุนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมดภายในประเทศ ทดแทนการนําเข้า ทําให้เกิดความมั่นคงทางยา

     สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลต้องรีบพิจารณาดำเนินการ เปิดทางให้โรงงานอื่นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศเป็นการด่วนโดยใช้ตำรับขององค์การเภสัช และจากนั้นควรปรับวิธีการจ่ายยาทั้งหมด ด้วยการจ่ายยาฟาวิพิราเวียทันที่ที่พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่รอให้เกิดอาการเหมือนเช่นปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่

     ถ้าความต้องการยามีแต่เพิ่มมากขึ้น แต่เราผลิตยาได้น้อยก็ต้องยืมมือคนอื่นมาผลิตยาโดยการควบคุมคุณภาพ เมื่อได้ยามาก็ต้องจ่ายผู้ป่วยเหมือนกรณีของสปสช.ที่ดำเนินการจ่ายยาให้ผู้ป่วย มิใช่ยืนกอดอกรอจนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม Hospitel หรือ ติดเชื้อกักตัวอยู่บ้าน เกิดอาการหนักจึงจ่ายยาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้...

     กระทรวงสาธารณะสุขเลิกเหนียมอายจากการไม่มียาและงุบงิบดำเนินการเสียที ต้องกล้าจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยทันทีตั้งแต่บัดนี้ได้แล้ว ก่อนที่โรคร้ายจะกัดกินรัฐบาลไทยเหมือนปัญหาวัคซีนไม่มาตามนัด!

     ถ้าจ่ายยาเร็วเท่ากับระงับอาการที่จะขยายรุนแรงในผู้ติดเชื้อได้เร็ว ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเตียงเขียว ไม่กลายเป็นเตียงเหลือง เตียงส้ม เตียงแดง และไม่ต้องเข้าสู่การรักษาพยาบาลในชั้นอาการรุนแรงมิใช่หรือ

     ยอมรับความจริงแล้วแก้ไขด่วน ก่อนที่คนไทยจะตายหมู่กันทั้งประเทศ!

“ไม่มี-ไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์” ตัวการทำให้ผู้ป่วยโควิดล้นเมือง