กทม.เปิดสายด่วน 24 ชม. สำหรับ 50 เขต เร่งช่วยผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษา

04 ส.ค. 2564 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 20:54 น.

กทม. ผนึกพลังพันธมิตรด้านการสื่อสาร จัดตั้ง“สายด่วนโควิดเขต” เป็นสายตรงถึง 50 สำนักงานเขต เขตละ 20 คู่สาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว ลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิต

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยวันนี้ (4 ส.ค.) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.)ได้เร่งดำเนินการค้นหาเชิงรุกเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้น

 

ล่าสุด กทม. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กสทช. True, Dtac AIS และ NT จัดตั้ง “สายด่วนโควิดเขต” เป็นสายตรงถึง 50 สำนักงานเขต เขตละ 20 คู่สาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว

 

ในระบบดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้บางเขตที่มีความพร้อมได้เริ่มทยอยให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 50 เขตโดยเร็ว

กทม.เปิดสายด่วน 24 ชม. สำหรับ 50 เขต เร่งช่วยผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษา

ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อผ่านทางสายด่วนโควิดเขต จะมีการประเมินอาการและความพร้อมในการเข้ารับการรักษาตามระดับอาการ หากผู้ป่วยสามารถ แยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ทางเจ้าหน้าที่จะแนะนำขั้นตอนในการรับการดูแล แต่หากไม่พร้อมจะดำเนินการรับผู้ป่วยมาพักคอย ณ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (community isolation : CI) โดยจะมีทีมแพทย์พยาบาลประเมินอาการ ให้ยารักษา และส่งต่อเข้ารับการรักษาตามอาการต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น อันจะเป็นการลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

 

"ขอให้ผู้ป่วย หรือผู้ที่ดูแล โทรแจ้งเขตพื้นที่ที่พักอาศัยในปัจจุบัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อประสานความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วต่อไป" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

 

กรณีผู้ป่วยที่มีผลตรวจโควิดจาก Antigen test หรือ RT- PCR สามารถโทรติดต่อสายด่วน 1330  หรือสายด่วนของสำนักงานเขต ซึ่งนอกจากการดำเนินการเกี่ยวกับ HI/CI แล้วยังประสานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยสายที่โทรมาที่เขตจะมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยไปที่ระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้แจกจ่ายเคสให้กับทีมที่ต้องเข้าไปประเมินตามลักษณะอาการของผู้ป่วย

 

สำหรับรายที่ต้องเข้าระบบ HI และ CI กทม. โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง จะเป็นผู้ดูแล ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกภาคเอกชนที่เป็นเครือข่าย