ไฟเขียว วัคซีน - เวชภัณฑ์โควิด-19 เป็นสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ

03 ส.ค. 2564 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 21:41 น.

บอร์ด สปสช. ไฟเขียวให้ยา-วัคซีน-เวชภัณฑ์-ชุดตรวจ-อุปกรณ์ สำหรับโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบิกจ่าย- เข้าถึงได้ทันที ตั้งงบ 891 ล้าน จัดซื้อ“ยาฟาวิพิราเวียร์” เพิ่มอีก 27 ล้านเม็ด

3 สิงหาคม 2564 - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด สปสช.ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 มีมติเห็นชอบให้ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรอง ตรวจยืนยัน การดูแลรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ถูกกำหนดโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือหน่วยงานที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มอบหมายให้กำหนดมาตรฐาน ทุกรายการเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามเกณฑ์การพิจารณาแบบ Green Channel เนื่องจากเป็นโรคระบาด ในภาวะเร่งด่วน

 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้เพิ่มรายการยาฟาวิพิราเวียร์ในแผนการจัดหา เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์จัดหาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในปี 2564 จำนวนไม่เกิน 27 ล้านเม็ด วงเงินไม่เกิน 891 ล้านบาท จากงบค่าบริการโควิด-19 และต่อเนื่องไปปี 2565 รองรับกรณีหน่วยบริการไม่สามารถหายาฟาวิพิราเวียร์ได้เพียงพอ
 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเมื่อ สธ. ออกแนวทางหรือกติกาเรื่องโควิด-19 มาแล้ว แต่ยังอาจติดขัดปัญหาในการเข้าถึงบริการเหล่านั้น ทาง สปสช. จึงได้รับการประสานเพื่อหามาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้เพิ่มเติม วันนี้บอร์ด สปสช. จึงพิจารณาให้รายการทั้งหมด นับเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามเกณฑ์ของ Green Channel และให้เป็นหลักการเอาไว้เลย เพื่อไม่ต้องเข้ามาพิจารณาเป็นเรื่องๆ โดย สปสช. จะกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการจ่ายให้กับหน่วยบริการต่อไป

 

ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ ตามไกด์ไลน์ของ สธ. ได้กำหนดให้เริ่มใช้ยาในผู้ป่วยโควิด-19 โดยเร็วที่สุด ซึ่งมีปริมาณการใช้ประมาณ 50 เม็ดต่อผู้ป่วย 1 คน โดยขณะนี้ สธ. มีแผนจัดซื้อ ณ เดือน ก.ย. 2564 จำนวน 40 ล้านเม็ด ซึ่งคาดว่าอาจไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ยา ในส่วนนี้ สปสช. จึงเสนอขอเตรียมงบประมาณเพื่อจัดซื้อไว้จำนวนไม่เกิน 27 ล้านเม็ด ในวงเงิน 891 ล้านบาท โดยจะเพิ่มรายการในแผนการจัดหา เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลราชวิถี จัดหาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในปี 2564 และต่อเนื่องไปปี 2565