เตือนแล้วนะ ไล่ผู้ป่วยโควิดพ้นบ้าน-หอพัก อาจมีความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ

26 ก.ค. 2564 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2564 | 21:40 น.

กรมควบคุมโรคออกโรงเตือนเจ้าของบ้าน-หอพัก-สถานประกอบการ ขับไล่ผู้ป่วยโควิดอาจมีความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ.2558 เนื่องจากอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในวงกว้างจนยากต่อการควบคุม ที่ถูกคือหากพบผู้ติดโควิดให้รีบแจ้ง จนท. เร็วที่สุด

26 ก.ค. 2564 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดี กรมควบคุมโรค แถลงว่า จากกรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ ว่ามีลูกจ้างคนหนึ่งถูกนายจ้าง ไล่ออกจากงานและที่พัก พร้อมภรรยาและบุตร หลังไปแจ้งผลการ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้นายจ้างได้รับทราบ เพราะกลัวผู้ร่วมงานติดเชื้อด้วยนั้น

 

กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า การไล่ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด-19 จะทำให้เกิดผลเสีย และอาจเข้าข่าย “มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558”  เนื่องจากอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปในวงกว้างยากต่อการควบคุมโรค และอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ หากพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ให้เจ้าของบ้านเช่า หอพัก หรือเจ้าของสถานประกอบการ รีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบและเริ่มการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตาม และร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะมีอาการป่วยปรากฏแล้วหรือยังไม่มีอาการก็ตาม ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย และลดโอกาสแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น

 

นายแพทย์โสภณ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแจ้งข้อมูลต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 นั้น

  • กรณีที่ผู้แจ้งเป็นเจ้าบ้านหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลบ้าน ให้แจ้งชื่อที่อยู่ของตนเอง ความสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย พร้อมแจ้งชื่อ อายุ เพศ สัญชาติ ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ป่วย แจ้งวันเริ่มป่วย และอาการสำคัญที่ปรากฏด้วย
  • ในกรณีที่เป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ ให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ สถานที่ทำงานของตนเอง แจ้งความสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วย แจ้งชื่อ อายุ เพศ สัญชาติ ที่อยู่ปัจจุบัน และอาการสำคัญของผู้ป่วยด้วย โดยสามารถแจ้งข้อมูลดังกล่าวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสำนักอนามัย กทม. หรือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
  • ส่วนการหาเตียงให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่มีหลักประกันสุขภาพ ให้ติดต่อกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) โทร. 1330 หรือกรณีเป็นผู้ประกันตน ให้แจ้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โทร. 1506 จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการเบื้องต้น ถ้ามีอาการไม่รุนแรง จะแนะนำให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ก่อน โดยจะจัดส่งชุดเวชภัณฑ์ดูแลรักษาโรคเบื้องต้นไปให้ที่บ้าน

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจขั้นยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง หากผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอย (Community Isolation) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และรับยาได้ทันที โดยในส่วนของศูนย์พักคอยฯ จะมีใบยินยอม (consent form) ให้ผู้ป่วยกรอกรายละเอียดข้อมูลก่อนเข้ารับการรักษาในศูนย์พักคอย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเดินทางไปตรวจที่หน่วยบริการ ซึ่งทำการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้วมีผลเป็นบวกที่แสดงว่าติดเชื้อ จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอยก่อน โดยไม่ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ระหว่างนี้ให้แยกอยู่ไม่ปะปนกับผู้ป่วยยืนยันรายอื่นๆ

ศูนย์พักคอยในกทม.มี 49 แห่งใน 47 เขต

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียม ศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ป่วยตามนโยบายของ ศบค. โดยมีเป้าหมายกำหนดให้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมี 50 สำนักงานเขต ต้องมีเขตละ 1 ศูนย์ ศูนย์ละ 100 เตียง และหากเป็นไปได้ บางเขตมีได้ 2 ศูนย์ ซึ่งจะได้เตียงผู้ป่วยเพิ่มอีก 5,000 เตียง หรือหากทุกเขตใน กทม. มี 2 ศูนย์พักคอยในแต่ละเขต ก็จะได้เตียงผู้ป่วยเป็น 10,000 เตียง

 

ปัจจุบัน กทม.เปิดศูนย์พักคอยรองรับแล้ว 49 แห่ง ในพื้นที่ 47 เขต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร.0 2245 4964