"ฟาวิพิราเวียร์" ไม่ช่วยลดการตายผู้ป่วยโควิด หมอมนูญชี้ให้ช้าไปไม่ได้ผล

19 ก.ค. 2564 | 18:52 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2564 | 01:51 น.
938

หมอมนูญเผยยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19 ถ้าจะใช้ต้องรีบให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล ระบุผลข้างเคียงพบได้แต่ไม่บ่อย

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คิดค้นในประเทศญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2002  เริ่มใช้ในประเทศญี่ปุ่นสำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ปี ค.ศ. 2014 นำมารักษาโรคโควิด-19 (Covid-19) ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย 
ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพช่วยให้อาการดีขึ้น ลดความรุนแรงของโรค ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย ลดการใช้ออกซิเจนได้ แต่ช่วยได้น้อยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19 (ดูรูป) 

ฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด
คำแนะนำ ถ้าจะใช้ฟาวิพิราเวียร์ต้องรีบให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล
องค์การอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 เพราะมีความเห็นว่ายานี้ยังมีประสิทธิภาพดีไม่เพียงพอ
ผลข้างเคียงของฟาวิพิราเวียร์พบได้แต่ไม่บ่อย มีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ทำให้ค่าเอนไซม์ตับ และกรดยูริกในเลือดสูง และมีรายงานทำให้หัวใจเต้นช้า
ผู้ป่วยหญิงอายุ 53 ปี ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสามี เข้านอนรักษาในรพ.ด้วยอาการเหนื่อย ไข้ ไม่ไอ เอกซเรย์ปอดมีปอดอักเสบเล็กน้อยสองข้าง เจาะเลือดค่าเอนไซม์ตับวันแรกปกติ แพทย์เริ่มให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่วันแรกที่เข้านอนในรพ.ให้ทั้งหมด 10 วัน ผู้ป่วยมีถ่ายเหลวบ้างแต่ไม่คลื่นไส้ ไม่อาเจียน

วันที่ 5 หลังเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ ชีพจรช้าลง 40 กว่าครั้ง/นาที ช้าที่สุด 38 ครั้ง/นาทีในวันที่ 7 ที่ได้รับยา หลังหยุดยาฟาวิพิราเวียร์ 3 วัน ชีพจรกลับมาเป็นปกติ 
ตรวจเลือดค่าเอนไซม์ตับวันที่หยุดยาฟาวิพิราเวียร์ ค่าเอนไซม์ตับขึ้นสูงผิดปกติ SGOT 197 SGPT 626 Alkaline phosphatase 359 แต่ค่า bilirubin ปกติ ตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบ A,B,C  อัลตราซาวด์ตับปกติ อาการทางปอดดีขึ้น ต้องใช้เวลา 1 เดือนครึ่งกว่าค่าเอนไซม์ตับจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติ
สรุป ผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้น แต่มีผลข้างเคียงจากยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้หัวใจเต้นช้าและมีตับอักเสบ หายได้เองหลังหยุดยา

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 19 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม             11,784 ราย
สะสมระลอกที่สาม  386,307 ราย
สะสมทั้งหมด          415,170 ราย
ตรวจในระบบบริการ       8997 ราย
ตรวจเชิงรุก                     2677 ราย
ตรวจพบในเรือนจำ         100 ราย
ตรวจในสถานกักตัว        10 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5741 ราย
สะสม 289,870 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม           81 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3328 ราย
สะสมทั้งหมด         3422 ราย