ดร.สุรพล: รพ.สนามธรรมศาสตร์อาจเป็นสัปดาห์สุดท้ายในการต่อสู้กับโควิด-19

19 ก.ค. 2564 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 22:46 น.
5.8 k

“ดร.สุรพล นิติไกรพจน์”เผยสัปดาห์นี้อาจเป็นสัปดาห์สุดท้ายของ “รพ.สนามธรรมศาสตร์” ในการต่อสู้กับโควิด-19 มีผู้ป่วยที่รับดูแลสะสมกว่า 3,200 คน น่าเศร้าใจที่จะฉีดวัคซีนต่อได้อีกเพียง 4 วัน 23 ก.ค.เป็นวันสุดท้าย เหตุไม่มีวัคซีนส่งให้อีกแล้ว 

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโควิด-19 สื่อความประชาคมธรรมศาสตร์ และอาสาสมัคร เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 ระบุว่า 

 

วันที่เก้าสิบเก้าของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ วันนี้ผู้ป่วยโควิดรายใหม่สูงที่สุดในประเทศ ที่ 11,397 ราย

 

เรารบมากว่าร้อยวันแล้ว มีบุคลากรแนวหน้าล้มหายตายจากและบาดเจ็บไปกักตัวมากกว่าสามร้อยคน มีความอ่อนล้า มีความเหน็ดเหนื่อย มีหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้คนมากมายที่มาช่วยกันรบ กับศัตรูที่มองไม่เห็น ทั้งที่มีหน้าที่และไม่มีหน้าที่ และที่ทำเกินกว่าหน้าที่มากมายมหาศาล

 

เพราะเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่พวกเรายึดมั่น เพราะอุดมการณ์ เพราะสำนึก และเพราะเพื่อปกป้องพี่น้องชาวไทยที่ฝากความหวังไว้กับพวกเรา

 

พวกเรารบ รอความหวังและเชื่อว่าถ้าประวิงสถานการณ์ไว้ให้ได้นานที่สุด เราจะได้รับความช่วยเหลือ เราจะหน่วงเวลาไว้จนกว่าผู้คนของเราจะได้รับการปกป้อง โดยการให้วัคซีนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง และทุก ๆ คนจะปลอดภัย

 

สามเดือนเศษมาแล้วที่เราทำงานต่อเนื่องไม่มีวันหยุด และจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนเราอาจจะจำต้องหยุดไปเอง เพราะไม่มีกำลังคนเหลือพอ เพราะไม่มีการสนับสนุนจากผู้คนที่รับผิดชอบบริหารประเทศ และเพราะไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในทางนโยบายที่จะทำให้พวกเราไม่แพ้ในสงครามครั้งนี้ได้


ในสถานการณ์ที่คับขันและในวันที่มีผู้ป่วยใหม่วันละกว่าหมื่นคน และจะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มจากร้อยคนไปที่สองร้อยคนในอีกไม่นาน


เราก็คงยังรบอยู่ในแนวตั้งรับของพวกเรา แต่เราคิดว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นมา เราคงจะมีกำลังสู้รบต่อไปได้อีกเพียงสัปดาห์เดียว ก่อนที่ระบบทั้งหมดของเราจะพังทลายลง 

 

พวกเราคงจะเสียใจมากหากว่าพวกเราจะไม่สามารถทำงานช่วยชีวิตผู้คนต่อไปอีกได้ แต่ว่าจนถึงขณะนี้ พวกเราก็ได้ช่วยเหลือปกป้องผู้คนกันมาจนถึงที่สุดแล้วจริง ๆ เข้าใจพวกเรานะ

 

ในสัปดาห์ที่อาจจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของพวกเราที่จะมาถึงนี้ เราอยากจะบอกเล่ากับผู้คนในรุ่นต่อไปให้ได้รู้ว่า พวกเราที่ธรรมศาสตร์ได้ทำอะไรลงไปบ้าง ในระหว่างวิกฤตร้ายแรงของสังคมไทย เพื่อจะบอกเล่าสิ่งที่พวกเราได้ทำมาด้วยกำลัง ด้วยแรงกาย ด้วยหัวใจและด้วยสองมือของคนธรรมศาสตร์ที่นี่เอง เพื่อเป็นประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ในการช่วยประคับประคองสังคมไทย ดังที่มีมาในอุดมการณ์ตั้งแต่ต้นของธรรมศาสตร์

 

เริ่มแต่เมื่อมีวิกฤตร้ายแรงของการระบาดของไวรัสโควิด พวกเราที่นี่ได้ร่วมกันลงมือลงแรง เพื่อช่วยดูแลรักษาสังคมและผู้คนชาวไทยในเรื่องใหญ่ๆอย่างน้อยสี่เรื่องด้วยกัน 

 

(1) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 800 เตียง ของเราเริ่มรับมือกับการระบาดของโควิดด้วยห้องความดันลบที่มีเพียงสองห้องเมื่อปีเศษที่แล้ว เราขยายหอผู้ป่วยและเตียงโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 24 เตียงในสองเดือนแรก ไปเป็น 42 เตียง ไปเป็น 55 เตียง ไปเป็น 65 เตียง ไปเป็น 77 เตียง ไปที่ 101 เตียง และไปจนถึง 109 เตียงในวันนี้ 

 

โดยมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตรวมอยู่ถึง 55 เตียง เราระดมสรรพกำลังทุกสิ่งอันที่มีอยู่มาเพื่อทำงานที่เสี่ยงภัย งานที่ต้องการอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อความปลอดภัยอย่างสูงมาก และใช้ทรัพยากรของเราเองบริหารจัดการโรงพยาบาลที่มีคนไข้นอกวันละกว่า 4,000 คน เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ ด้วยการลดการนัดหมายผู้ป่วย ลดการตรวจที่ไม่จำเป็น และปรับลดการดูแลผู้ป่วยปกติไปกว่า 70% 

 

เราเหลือคนไข้ที่นัด หรือ จำเป็นต้องมาเพียงพันคนต่อวัน และปิดห้องผ่าตัด 28 ห้องของเราให้เหลือเพียง 6 ห้อง และจัดการหอผู้ป่วยที่อาจยุบรวมกันได้ให้ยุบรวมไปทั้งหมด เพื่อเอาแพทย์ พยาบาล และบุคลากรมาช่วยกันรับมือผู้ป่วยโควิด 

 

แพทย์ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น สูติ ศัลย์ Med เด็ก ออร์โธรังสี วิสัญญี ถูกขอร้องให้มาช่วยผลัดกันมารับมือกับโควิด และหยุดการเรียนการสอนทางคลินิกทั้งหมดมาเพื่อการนี้ เพราะเรามีบุคลากรที่บาดเจ็บจากการรบ ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วย หรือที่ต้องกักตัวกันวันละหลายสิบคนเกือบทุกวันจนแทบจะดูแลระบบงานปกติไม่ได้
 วันนี้ ห้องเก็บศพของโรงพยาบาลเต็มแล้ว เราเติมคอนเทนเนอร์เก็บศพเพิ่มมาอีกสองตู้เพื่อให้เรามีศักยภาพเก็บร่างผู้เสียชีวิตได้เพิ่มอีกสามเท่า 

 

วันนี้เริ่มเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือทุกอย่างครบแล้วที่จะทำ ER ให้มีโซน Negative Pressure ขนาด 150 ตรม. เพื่อจะให้รับมือสถานการณ์ของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และการปรับปรุงนี้จะเสร็จใช้งานได้ในวันพุธ 

 

จากนั้นปลายสัปดาห์นี้เราจะทำห้อง Negative Pressure อีกสามห้อง สำหรับ   Palliative care ผู้ป่วยโควิดระยะสุดท้าย ซึ่งเป็น service ที่พวกเราในวงการสาธารณสุขไม่อยากทำ แต่ก็คงต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

พร้อม ๆ กับการทำห้องคลอดที่เป็น Negative Pressure อีกสองห้อง เพื่อให้ใช้ได้ในปลายอาทิตย์นี้ เพื่อรองรับผู้คลอดซึ่งในขณะนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็น PUI หรือเป็น + เราเพิ่งจัดตั้ง ICU โควิดสำหรับเด็กและทารกเพิ่มอีก 8 เตียง เพื่อพยายามช่วยเหลือรักษาชีวิตเด็ก และทารกแรกคลอดเอาไว้ให้ได้ 


เราใช้ทรัพยากรของเราเอง ที่มีจากการบริจาคสนับสนุนของผู้คนในสังคมไทยไปเพื่อการนี้หลายสิบล้านบาท และต้องใช้กำลังบุคลากรของเราเองเพิ่มขึ้นในทุก ๆ งานที่พวกเราคิดอ่านและตัดสินใจทำกันขึ้นเองทั้งหมด 

(2) เราประกาศและได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งแรก และเป็นโรงพยาบาลสนามที่ดีที่สุดของประเทศขึ้นในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เป็น 307 เตียงในเดือนมีนาคม 2563 จนมาถึงเวฟที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ และเวฟที่ 3 – 4 ในเดือนเมษายน ที่ขยายเป็น 470 เตียง 

 

เราช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เข้าตาจน ไม่มีเตียงคนไข้ใหม่เพิ่มและช่วยแก้ปัญหาเตียงไม่พอในรพ.หลักโดยทรัพยากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือและกำลังบุคลากรของเราเองทั้งหมด 

 

วันนี้ รพ.สนามธรรมศาสตร์มีผู้ป่วยที่เรารับมาดูแลสะสมมากกว่า 3,200 คนแล้ว และเรายังไม่หยุดรับ ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น และผู้ป่วยซึ่งควรจะเป็นเคสเขียวไม่มีอาการเปลี่ยนเป็นเคสเหลืองที่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ยารักษาปอดอักเสบที่นี่หลายสิบคน จนโรงพยาบาลสนามของเราคล้าย รพ.หลักเข้าไปทุกที แต่ที่ต่างก็คือมีอัตรากำลังแพทย์พยาบาลน้อยกว่าโรงพยาบาลหลักเกือบสิบเท่า

 

 

(3) เราประกาศจัดตั้งศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนเพียงแห่งเดียวในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 64 และฉีดวัคซีนต่อเนื่องมา 41 วันแล้ว และมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าวันละ 2,000 คน และปลายเดือนนี้เราจะเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนเป็นวันละ 3,000 คน โดยใช้ทรัพยากรและบุคลากรของ รพ.ธรรมศาสตร์และอาสาสมัครทั้งหมด 

 

ขณะนี้เราฉีดวัคซีน Astra Zeneca ให้กับผู้ที่รอโอกาสและความหวังในการได้รับภูมิคุ้มกันไปได้กว่า 73,000 คน และตั้งใจจะฉีดไปเรื่อย ๆ ทุกวันจนกว่าไม่มีวัคซีนจะให้ฉีดอีก เพราะพวกเราเชื่อว่า การมีวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้คนเป็นทางรอดเดียวของสังคมไทยจากสงครามโควิดนี้ 

 

น่าเศร้าใจที่เราคงจะฉีดต่อเนื่องไปได้อีกเพียง 4 วัน และวันที่ 23 กรกฎาคม ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสช่วยเหลือผู้คนได้ เพราะไม่มีวัคซีนส่งมาให้เราฉีดอีกแล้ว อาสาสมัครและบุคลากรวันละ 150 คน ที่ทำงานติดต่อกันมาจนครบ 45 วัน คงจะเศร้าใจที่ประเทศไม่มีวัคซีนให้กับประชาชนอีกแล้ว

 

แต่ผู้คนที่ลงทะเบียนรอวัคซีนอยู่อีกกว่าห้าหมื่นคนไว้ที่เรา ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย คงจะรู้สึกเหมือนกับฟ้าถล่มลงต่อหน้าต่อตา ที่โอกาสของพวกเขาที่จะได้รอดพ้นจากการคุกคามของโรคระบาดนี้ จะสูญสลายไปในทันที เมื่อได้รับทราบข่าวการปิดศูนย์รับวัคซีน เพราะไม่มีวัคซีนอีกแล้วจากพวกเรา

 

(4) นอกจากการขยายเตียงโควิด และเพิ่ม Negative Pressure อย่างไม่หยุดหย่อนแล้ว เราก็ได้วางแผนจัดเตรียมสถานที่และเตรียมแพทย์ พยาบาลเฉพาะทางสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดในลักษณะ Palliative Care ขึ้นที่โรงพยาบาล 
เราคงเป็นโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในประเทศนี้ที่เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล และจัดสถานที่ทำเป็น Negative Pressure สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิดแบบประคับประคองในประเทศ 

 

บุคลากรทางการแพทย์ทราบดีอยู่แล้วว่า Palliative Care สำหรับโควิดคืออะไร แต่สำหรับบุคลากรภายนอก เราคงอธิบายได้เพียงว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนี่คือสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์มีความยากลำบากใจที่จะดำเนินการ เพราะมันคือการดำเนินการบริหารจัดการเตียง ICU โควิดที่มีความจำเป็นสูงสุดในภาวะนี้ 

 

โดยพยายามบริหารจัดการเตียง ICU โควิดที่มีจำนวนจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยพูดคุยกับญาติของผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดชีวิตต่ำมากหรือไม่มีเลย😱ให้ยอมรับการดูแลแบบประคับประคองโดยไม่มีการ CPR หรือเจาะเส้นเลือดดำที่คอเพื่อช่วยยืดชีวิตอีก เพื่อให้เวลาอีกสามสี่วันที่จะยืดชีวิตของผู้ป่วยรายนั้นไว้ชั่วคราว

 

กลายเป็นสามสี่วันที่อาจจะช่วยผู้ป่วยวิกฤตรายอื่นให้ได้มีโอกาสรอดชีวิตไปได้ เป็นเรื่องเศร้าถ้าจะบอกว่าเราจะต้องขอให้อาจารย์แพทย์ทางด้าน Palliative Care มาดูแลผู้ป่วยโควิดวิกฤตไปหลายรายแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ทั้งหมดที่บอกเล่ามาโดยสังเขปนี้ คืองานที่พวกเราชาวธรรมศาสตร์ช่วยกันแบกหามทำกันมาเอง ด้วยกำลังบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือและทรัพยากรของพวกเราเองทั้งหมด 

 

ปีนึงมานี้เราใช้งบประมาณของเราเองไปแล้วมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาทสำหรับโควิด ถ้าไม่มีศิษย์เก่าและผู้สนับสนุนที่เห็นคุณค่าของงานของเรามาช่วยบริจาคสบับสนุนให้ โรงพยาบาลคงล้มละลายไปนานแล้ว 

 

และที่สำคัญก็คือ พวกเราทำเรื่องเหล่านี้มาได้ด้วยความเชื่อมั่น ในสิ่งที่ใครบางคนที่พวกเรารักและศรัทธา เคยบอกไว้ว่า “ให้ทำหน้าที่ของพวกเราต่อไปในภาวะวิกฤติ และให้คิดเอาเองว่าหน้าที่ของพวกเราคืออะไร”

 

พวกเราต่างล้วนเชื่อว่า หน้าที่ของพวกเรา คือ การดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยที่เจ็บป่วยทุกข์ทรมานด้วยโรคร้ายนี้ ให้ดีที่สุด ให้มากที่สุด และพวกเราจะทำจนเต็มกำลังความสามารถ 

 

และแล้วพวกเราก็ได้ทำเต็มกำลังความสามารถในรอบนี้มากว่าสามเดือนติดต่อกันโดยไม่หยุดเลย ด้วยความเชื่อมั่นว่า การรบหน่วงเวลาช่วยดูแลผู้คนที่ทุกข์ทรมานอยู่ในแนวรบของเรา จะช่วยทำให้ประเทศและประชาชนไม่แพ้สงครามนี้ในท้ายที่สุด ด้วยนโยบายของรัฐบาลเรื่องการจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างกว้างขวางและเร่งด่วนให้แก่ผู้คนทั้งประเทศ

 

เราเพิ่งได้ทราบว่าวัคซีนจะไม่มีมาอีกแล้ว และอีกนานจนกำหนดไม่ได้ที่ผู้คนที่พวกเราดูแลอยู่จะได้รับภูมิคุ้มกันเพียงพอ 

 

จะต้องรอคอยวัคซีนต่อไป

 

เราร้องขอมากเกินไปหรือเปล่านะ ที่จะขอให้รัฐบาลรับประกันสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของคนไทย โดยการจัดหาวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย มาฉีดให้คนไทย ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้

 

เราได้แต่ถามตัวเองว่าทำไม⁉ ทำไมรัฐบาล ทำไมกระทรวง ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้หลอกลวงเรา หลอกลวงผู้คนทั้งประเทศให้อดทน รอคอยและมีความหวัง ซึ่งท้ายที่สุดก็ปรากฎว่าไม่มีทางเป็นจริงได้เลย⁉

 

ทำไมนะ รัฐบาลของเรา จึงไม่สามารถจัดหาวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย โดยเงินที่จ่ายจากภาษีของคนไทย มาช่วยป้องกันชีวิต และดูแลรักษาผู้คนร่วมแผ่นดินเอาไว้ก่อน ให้ได้ภายในสัปดาห์ หรือ สองสัปดาห์ข้างหน้า ที่เหตุการณ์จะวิกฤติร้ายแรงที่สุดนี้

 

เราอดรำพึงรำพันกับตัวเองอีกไม่ได้ว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีสติปัญญาและไม่มีความสามารถที่จะช่วยรักษาชีวิตของคนไทย ไม่ให้ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงอย่างที่เป็นมาตลอดสัปดาห์ ด้วยการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไว้วางใจได้ และเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศ บนแผ่นดินไทยและอยู่ในเขตอธิปไตยของชาติเราเองแล้ว รัฐบาลจะยังคงบากหน้าเป็นรัฐบาลอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ⁉


แต่ช่างเถอะ พวกเราเป็นเพียงบุคลากรด่านหน้า เป็นมดงานตัวเล็กๆ ที่จะยอมเสียสละตัวเองเพื่อดูแลประชาชน และคงต้องก้มหน้า กัดฟัน และยืนหยัดทำภารกิจที่พวกเราคิดเอาเองว่า เป็นความรับผิดชอบของเราต่อไป โดยไม่มีสิทธิตั้งคำถาม  
แม้จะรู้ว่าอาทิตย์นี้ อาจจะเป็นการรบป้องกันครั้งสุดท้าย ก่อนที่พวกเราและระบบสาธารณสุขของเราจะหมดกำลังและล่มสลายลงก็ตาม


#เราจะสู้จนวันสุดท้ายมาถึง


#อนาคตจะต้องมีประเทศไทย


ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ก็ได้ออกข้อเขียนในประเด็น “รัฐบาลได้รับรู้ไหม ประชาชนกำลังล้มตายเป็นใบไม้ร่วง”