กรณีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28)เพื่อยกระดับมาตรการ"ล็อกดาวน์" เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติม
มาตรการยกระดับการล็อกดาวน์ล่าสุดครั้งนี้มีเป้าหมายเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด โดยมีความมุ่งหมาย กําหนดมาตรการที่จําเป็นและต้องเร่งดําเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน อันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กําหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด เนื่องจากมีจํานวน ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
เพื่อความชัดเจน "ฐานเศรษฐกิจ" จึงสรุป ประกาศล็อกดาวน์ล่าสุดมีจังหวัดอะไรบ้าง เริ่มวันไหน และมีมาตรการสำคัญๆอะไร มาให้หาคำตอบกันแบบเข้าใจง่ายๆ
ล็อกดาวน์ล่าสุดมีจังหวัดไหนบ้าง?
ตามข้อกำหนดข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) กำหนดพื้นที่ล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ดังนี้
- กรุงเทพมหานคร
- ฉะเชิงเทรา
- ชลบุรี
- นครปฐม
- นนทบุรี
- นราธิวาส
- ปทุมธานี
- ปัตตานี
- พระนครศรีอยุธยา
- ยะลา
- สงขลา
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
ล็อกดาวน์ล่าสุดเริ่มวันไหน?
- ตามข้อกำหนดฯฉบับล่าสุด กำหนดให้การยกระดับล็อกดาวน์ล่าสุดมีผลวันที่ 20 ก.ค. 2564 ยกเว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2564
มาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับการล็อกดาวน์มีอะไรบ้าง ?
- ห้ามบุคคลใน 13 จังหวัด เขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2564 ผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดและต้องระวางโทษตามพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
- ขนส่งสาธารณะ จํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ไม่เกิน 50% ของความจุผู้โดยสาร เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ
- ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ ออกคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกที่นี่
- ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 5 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก งดจัดกิจกรรม
- การปฎิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจํานวน เปิดให้บริการ เฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค กิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกําหนดเวลาปฏิบัติชัดเจน และได้นัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า และเป็นการปฏิบัติงานที่สามารถดําเนินการได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรค
- การปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าหน้าที่และบุคลากร ปฏิบัติตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเช่นเดียวกัน เพื่อให้บรรดามาตรการต่าง ๆ ที่กําหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนี้ โดยเฉพาะการลดและจํากัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล สามารถเกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา