อียูปลดไทยห้ามเดินทางเข้าประเทศราคาที่ต้องจ่ายแลกกับมาตรการประคอง ศก.

18 ก.ค. 2564 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2564 | 21:14 น.
2.7 k

หมอเฉลิมชัยเผยสหภาพยุโรป หรืออียูปลดไทยออกจากบัญชีที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางเป็นอีกหนึ่งราคาที่ต้องจ่ายแลกกับมาตรการประคองเศรษฐกิจ พร้อมจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 300,000 ราย และเสียชีวิตร่วม 3000 ราย

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
สหภาพยุโรปปลดชื่อประเทศไทย ออกจากบัญชีที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทาง
สหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ได้ทำการประกาศรายชื่อ กลุ่มประเทศที่สามที่สหภาพยุโรปเห็นว่าปลอดภัย และควรได้รับการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทาง มาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 และมีการประกาศปรับปรุงรายชื่อดังกล่าวเป็นระยะมาโดยตลอด
ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น เพราะเข้าหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ทำให้ได้รับความสะดวกในการที่จะเดินทางเข้าสหภาพยุโรป เพราะจะได้รับการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ
แต่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีสหภาพยุโรป ได้มีมติปรับรายชื่ออีกครั้งหนึ่ง โดยปรับรายชื่อประเทศไทยและประเทศรวันดาออกจากบัญชี และเพิ่มเติมประเทศยูเครนเข้าไป
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการปรับนั้น จะใช้ข้อมูลสามประการด้วยกัน คือ
1.สถานการณ์การระบาดของโรค
2.ความสามารถในการฉีดวัคซีน
3.ความเข้มข้นในการตรวจหาไวรัส
เกณฑ์ที่สำคัญมากอันหนึ่ง และมีความชัดเจนคือ สถานการณ์การระบาดของโรค ถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่ 14 วันย้อนหลังก่อนการพิจารณา น้อยกว่า 75 รายต่อประชากร 100,000 คน ก็จะได้รับการจัดเข้าอยู่ในรายชื่อบัญชีดังกล่าว

และตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2563 จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวมาโดยตลอด เพราะเรามีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 75 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ในการประกาศครั้งนี้ สหภาพยุโรปประกาศว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อย้อนหลัง 14 วันมากถึง 97.3 รายต่อ 100,000 คน ซึ่งเกิน 75 รายต่อแสนคน จึงต้องหลุดออกจากบัญชีดังกล่าว

อียูปลดไทยห้ามเดินทางเข้าประเทศราคาที่ต้องจ่ายแลกกับมาตรการประคอง ศก.
ส่วนตัวเลขล่าสุดของไทย ถ้าใช้ช่วง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-14 กรกฎาคม  เรามีผู้ติดเชื้อเพิ่มในช่วงดังกล่าว 98,195 คน คิดเป็น 140 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวแน่นอน
ส่วนประเทศที่ยังอยู่ในบัญชี อาทิเช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน
ส่วนประเทศจีน สหภาพยุโรปยื่นเงื่อนไขว่า จีนจะต้องให้สิทธิ์ยุโรปเข้าจีนในลักษณะเดียวกันเสียก่อน
เป็นที่น่าเสียดายว่า สถานการณ์การระบาดในระลอกหนึ่งและระลอกสองของไทย อยู่ในการควบคุมที่ดีมาก จนสหภาพยุโรป จัดชื่อประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวโดยตลอดหนึ่งปีเต็ม แต่เมื่อเข้าสู่การระบาดระลอกสาม ซึ่งมีไวรัสกลายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ทำให้ผู้ติดเชื้อของเราเพิ่มขึ้นจนเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรป
ประเทศไทยจึงหลุดออกจากบัญชี ประเทศที่ได้รับการผ่อนปรนดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งราคาที่ต้องจ่าย สำหรับมาตรการที่ออกมา เพื่อจะประคับประคองมิติทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 300,000 ราย และเสียชีวิตร่วม 3000 ราย

ส่านสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยล่าสุดวันที่ 18 กรกฏาคม 2564 นั้น "ฐานเศรฐกิจ" รวบรวมตัวเลขจากการรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีติดเชื้อเพิ่ม 11,397 ราย
สะสมระลอกที่สาม 374,523 ราย
สะสมทั้งหมด 403,386 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5726 ราย
สะสม 256,484 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 101 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3247 ราย
สะสมทั้งหมด 3341 ราย