"วัคซีนทางเลือก" อัพเดทล่าสุด คนไทยจะได้ฉีดยี่ห้ออะไรบ้าง

16 ก.ค. 2564 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 23:43 น.
1.3 k

"วัคซีนทางเลือก" อัพเดตข้อมูลล่าสุด ถึงวันนี้มียี่ห้ออะไร ตัวไหนให้คนไทยเลือกใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังบุกหนัก รวมทั้งช่องทางและเงื่อนไขการจอง

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า วัคซีนโควิด ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยได้อนุมัติขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 6 ราย นั้น มียี่ห้อใดและเป็นวัคซีนของผู้ผลิตจากประเทศใดบ้าง   

  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาร่วมกับ ม.อ็อกซ์ฟอร์ด (สวีเดน-อังกฤษ)  ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 20  ม.ค. 2564
  • วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ผลิตโดยบริษัท ซิโนแวค (จีน) ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 22  ก.พ. 2564
  • วัคซีนแจนเซ่น (Janssen) โดยบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (สหรัฐ) ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564
  • วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) โดยบริษัท โมเดอร์นา (สหรัฐ) ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564
  • วัคซีน BIBP โดยบริษัท ซิโนฟาร์ม (จีน)ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 28  พ.ค.2564
  • วัคซีนโคเมอร์เนตี (Comirnaty) โดยบริษัท ไฟเซอร์ (สหรัฐ) ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีก 2 ยี่ห้อ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน คือ

  • วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ผลิตโดยสถาบันระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาลายา (รัสเซีย)
  • วัคซีนโควาซิน (COVAXIN) ผลิตโดยบริษัท ภารัต ไบโอเทค (อินเดีย)    

 

โครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยเริ่มดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีวัคซีน 2 รายที่ใช้อย่างเป็นทางการ คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค วัคซีนตัวอื่น ๆจึงถือเป็น “วัคซีนทางเลือก” ที่รัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือองค์กร อย่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสภากาชาด สามารถนำเข้ามา (ในกรณีของโรงพยาบาลเอกชนยังเป็นการนำเข้าผ่านหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม) เพื่อช่วยให้การกระจายวัคซีนสู่ประชาชน ทำได้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ผู้รับวัคซีนต้องจ่าย

\"วัคซีนทางเลือก\" อัพเดทล่าสุด คนไทยจะได้ฉีดยี่ห้ออะไรบ้าง

ช่องทางการเข้าถึง “วัคซีนทางเลือก” ยี่ห้อต่าง ๆ ในประเทศไทยขณะนี้ มีดังนี้

วัคซีนโมเดอร์นา เปิดให้จองผ่านบริการของโรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่ง เช่น เครือรพ.ธนบุรี เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เครือโรงพยาบาลสมิติเวช เครือบำรุงราษฎร์ เครือสินแพทย์ เครือพญาไท ฯลฯ ค่าใช้จ่ายราคาต่อเข็ม 1,650 บาท (ราคานี้เป็นไปตามข้อกำหนดของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน) และมีอีกส่วนหนึ่งเป็นโควตาของโรงพยาบาลรัฐ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จัดให้ในราคาเข็มละ 1,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่รอบแรกที่เปิดจองในเดือนกรกฎาคมนั้น ปิดการจองไปแล้ว เนื่องจากได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม การเปิดจองทุกช่องทาง สามารถปิดจองอย่างรวดเร็ว ต้องรอฟังข่าวการเปิดให้จองในรอบต่อไปทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาล ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรวัคซีนล็อตใหม่ ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมยืนยันว่า วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส ยังคงเข้ามาในไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาส 1 ปี 65 (อ่านเพิ่มเติม: จอง‘โมเดอร์นา’ล้น บี้องค์การเภสัชกรรม เร่งเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน)

 

ส่วน วัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 1 ล้านโดสของสภากาชาดไทยนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นต้นของกระบวนการจัดสรร โดยทางสภากาชาดฯได้เปิดโอกาสให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยื่นจำนวนจองเข้ามาได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 ก.ค.2564 เพื่อนำไปฉีดฟรีให้กับประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมาย 

 

\"วัคซีนทางเลือก\" อัพเดทล่าสุด คนไทยจะได้ฉีดยี่ห้ออะไรบ้าง

วัคซีนซิโนฟาร์ม เปิดให้จองผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้แทนในการจัดซื้อในนามรัฐ กับทางผู้ผลิตและนำเข้ามา โดยมีข้อกำหนดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมีกฎหมายรองรับให้ดำเนินการได้ รอบแรกเปิดให้จอง เฉพาะหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ-เอกชน องค์กรการกุศล รวมทั้งบริษัทเอกชนที่จองวัคซีนสำหรับพนักงานในองค์กร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

 

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม จึงเปิดการจองสำหรับประชาชนทั่วไป (จะเริ่มเปิดให้จองในวันที่ 18 ก.ค. เวลา 8.00น.) ในจำนวนจำกัดที่ 40,000 คน รายละเอียดและเงื่อนไขการจองนั้น สามารถคลิกอ่านที่นี่ : จองวัคซีนซิโนฟาร์ม 18 ก.ค.เงื่อนไข-ขั้นตอนการจองมีอะไรบ้าง เช็คที่นี่

 

วัคซีนไฟเซอร์  วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกจะเข้ามาช่วงเดือน ก.ค. นี้ ในนามวัคซีนบริจาคโดยบริษัท ไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้อง "ไม่ขายต่อ"  มติ ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2564  เสนอฉีดให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ  

  1. บุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ฉีดเป็นบูสต์เตอร์โดส 1 เข็ม)
  2. ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค
  3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง (โควตาสำหรับกลุ่มนี้ 10% หรือ 1.5 แสนโดส)
  4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต

พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่แพร่ระบาดหนักและแหล่งท่องเที่ยว (ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา) คณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัด และกทม. เป็นผู้บริหารจัดการผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่ ส่วนกรณีชาวต่างชาติกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ประสานหลัก

 

ส่วน วัคซีนไฟเซอร์ล็อตใหญ่อีก 20 ล้านโดส ที่จะนำเข้ามาโดยโรงพยาบาลเอกชนผ่านทางหน่วยงานภาครัฐนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการลงนามทำสัญญา (อ่านเพิ่มเติมที่นี่: "หมอบุญ" เตรียมเซ็นสัญญานำเข้าไฟเซอร์ 20 ล้านโดสวันนี้)

 

ส่วน จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แม้ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วแต่ยังไม่มีข่าวการเปิดจอง  ปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาระบุว่า ยังไม่สามารถติดต่อบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด ในเครือจอห์นสันฯ ซึ่งเป็นตัวแทนการเจรจาฝ่ายผู้ผลิตได้ คาดว่าอาจจะมีปัญหาบางประการ