"หมอบุญ" เตรียมเซ็นสัญญานำเข้าไฟเซอร์ 20 ล้านโดสวันนี้

15 ก.ค. 2564 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 23:15 น.
4.2 k

THG นำโดย หมอบุญ เตรียมจับมือหน่วยงานรัฐเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนmRNA โนวาแวกซ์และ ไฟเซอร์-ไบออนเทค 20ล้านโดสวันนี้ คาดได้รับล็อตแรกภายใน ก.ค.นี้ เคาะราคาถูกกว่าโมเดอร์นา

จากการแพร่ระบาดอย่างหนักและกลายพันธ์ของโควิด-19 ที่เกิดจากการผสมระหว่างเดลตากับอัลฟา

คนไทยจำเป็นต้องได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่าง mRNA เพื่อควบคุมไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว

ซึ่งปัจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนทางเลือก  mRNA

 

โดยวัคซีนทางเลือก  mRNA ที่คาดว่าไทยจะได้รับเร็วที่สุดคือ โมเดอร์นา ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้มีการจัดสรรโควต้าวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆทั้งสิ้น 285 แห่งและในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 องค์การฯจะเริ่มทยอยลงนามในสัญญาซื้อ-ขายและรับชำระเงินค่าวัคซีนจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 หลังจากนั้น คาดว่าประมาณวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 องค์การฯจะลงนามในสัญญาซื้อ-ขาย กับบริษัทซิลลิค ฟาร์ม่า จำกัด ตัวแทนของโมเดอร์นา และจะได้รับวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดสในไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาส 1 ปี 65

 

ทางด้านนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยว่า คนไทยจำเป็นต้องได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่าง mRNA เพื่อควบคุมไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งเชื้อไวรัสเองมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง ล่าสุดก็มีการพบสายพันธุ์ผสมระหว่างเดลตากับอัลฟา  ดังนั้นวัคซีนเองก็ต้องมีการพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ ซึ่งการสั่งซื้อวัคซีนปริมาณมากในระยะยาว เชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนแผน เพราะจะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้

 

การระบาดเยอะและรวดเร็ว จะทำให้เกิดการผสมสายพันธุ์ได้ง่าย ขณะที่วัคซีนเชื้อตายไม่สามารถพัฒนาได้ทัน แต่ขณะเดียวกันวัคซีนหลายชนิดก็อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสให้ได้มากที่สุด เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่พัฒนาเวอร์ชั่น 2 และคาดว่าจะเปิดตัวได้เร็วๆนี้

 

จนถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่มีวัคซีนทางเลือก ซึ่งยังต้องรอเซ็นสัญญาต้นเดือนสิงหาคม และนำเข้าในไตรมาส 4 เช่นเดิม ทั้งๆที่สถานการณ์เช่นนี้ควรจะต้องเร่งเซ็นสัญญาสั่งซื้อ และนำเข้าให้รวดเร็วที่สุด

 

ล่าสุด THG มีแผนนำ เข้าวัคซีนทางเลือก 2 ยี่ห้อใหม่คือ โนวาแวกซ์ (Novavax) ประเทศสหรัฐอเมริกา

 และ ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ประเทศเยอรมนีนั้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนและไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

ทั้งนี้ได้มีการเตรียมการด้านเอกสารสำคัญ คำสั่งซื้อ ร่างสัญญาต่างๆ มากว่า1เดือนและการลงนามสัญญานี้จะเกิดขึ้นในวันนี้ 15 ก.ค ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการยืนยันจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อและนำเข้า เหลือเพียงแค่ทางด้านสหรัฐฯ เท่านั้นว่า จะอนุมัติตามที่ขอไป 20 ล้านโดส ในระยะแรกหรือไม่

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อหน่วยงานรัฐที่ร่วมมือกับ THG  ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายชื่อหลังจากเซ็นสัญญาในวันนี้ แต่จากข้อมูลของเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ระบุถึงการอนุญาตให้ 5 หน่วยงานหลักมีสิทธิในการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1) กรมควบคุมโรค 2) องค์การเภสัชกรรม 3) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 4) สภากาชาดไทย และ 5) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีน เนื่องจากเป็นวัคซีนไฟเซอร์ชนิดเดียวกันกับที่บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับใช้ในไทยได้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว คาดว่า ใช้ระยะในการพิจารณาเพียงหนึ่งวัน และนำเข้าวัคซีนได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยเครือ รพ.ธนบุรี จะเป็นผู้กระจายวัคซีน

 

ขณะนี้ผ่านขั้นตอนต่างๆมากแล้ว เหลืออีก 3-4 ขั้นตอน อาทิ การพิจารณาของนายกรัฐมนตรี, การติดต่อประสานทางของกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น

 

หากดำเนินการได้อย่างรวดเร็วก็สามารถสั่งซื้อและนำเข้ามาได้เร็วที่สุดคือในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออย่างช้าเดือนสิงหาคมก็สามารถฉีดให้กับคนไทยได้ โดยเบื้องต้นหากกระบวนการต่างๆแล้วเสร็จ จะสั่งซื้อโนวาแวกซ์ ล็อตแรก 10 ล้านโดส และไฟเซอร์-ไบออนเทคอีก 10 ล้านโดส

 

ซึ่งทั้งสองบริษัทยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทใหม่ พร้อมกับนำเข้าโดยตรง ทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกลงทำให้ราคาวัคซีนและค่าบริการต่างๆ จะถูกกว่าโมเดอร์นา

 

สำหรับ แผนการส่งมอบวัคซีนล็อตแรก คาดว่า จะขนส่งจากโรงงานในเยอรมนีมาถึงไทยภายในเดือน ก.ค. นี้ จำนวน 5 ล้านโดส จากทั้งหมด 20 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะทยอยจัดส่งมา โดยจะเข้ามาสมทบช่วยแผนการกระจายของรัฐบาล แบบคู่ขนาดผ่านภาคเอกชน ตั้งเป้าว่าจะกระจายวัคซีนให้ได้ในอัตรา 500,000 โดสต่อวัน และจะทำให้อัตราการฉีดต่อวันของทั้งประเทศเพิ่มเป็นวันละ 1 ล้านโดส

 

ทั้งนี้ THG  ยินดีขายให้ภาคเอกชนที่ต้องการฉีด เบื้องต้นราคาต้นทุนอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือราว 555 บาทต่อโดส ยังไม่รวมค่าขนส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคิดราคารวมโดยประมาณ 900 บาทต่อโดส

 

สำหรับ การนำเข้าล็อตนี้ เพื่อช่วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในจังหวัดและเมืองหลักๆ ด้านเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และพัทยาให้ครอบคลุมร้อยละ 80 ของประชากรโดยเร็วที่สุด

 

นอกจากนี้ กรณีการนำเข้าวัคซีนโนวาแวกซ์ ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นวัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง นพ.บุญ กล่าวว่า การเจรจาซื้อดังกล่าวตั้งเป้าไว้ว่าให้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster dose) ที่จะเป็นเข็มที่ 3 และ 4 ในอนาคต คาดว่า จองไว้ราว 10 ล้านโดส ซึ่ง รพ.ธนบุรี จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเอง

 

  “การที่โรงพยาบาลสั่งมาในปริมาณมากนั้นเพราะเรามีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตหากโรงพยาบาลอื่นต้องการ เราก็ยินดีขายให้ในราคาทุน ไม่เอากำไร แต่ที่เราต้องเริ่มผลักดันให้มีการนำเข้ามาเร็วๆ เพราะมองว่า วัคซีน คือหัวใจสำคัญของการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังกลายพันธุ์และเป็นวิกฤติของประเทศในขณะนี้”