3 สมาคมท้องถิ่นจี้นายกฯปลดล็อกหา“Rapid test–วัคซีนโควิด”ให้ประชาชนฟรี   

15 ก.ค. 2564 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 01:14 น.

“3 สมาคมท้องถิ่น”ออกโรงเรียกร้องนายกฯ ปลดล็อคจัดหา Rapid test และวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนฟรี สกัดการระบาดของโควิด ลั่นมีเงินซื้อวัคซีนโดยไม่ต้องกู้ ด้าน“นนทบุรี”พ้อคนเก็บขยะติดเชื้อยังต้องรอคิวตรวจ 

วันนี้ (15 ก.ค.64)  สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย  และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เรื่อง ข้อเสนอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 

 

นายพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา  ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า เราเป็นองค์กรภายใต้การกำกับของรัฐ จึงมีข้อเสนอเพื่อจะช่วยผลักดันและเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ให้จบสิ้นโดยเร็ว  เพราะที่ผ่านมาเกิดผลกระทบสาหัสต่อประชาชน ซึ่งเรามาจากการเลือกตั้งที่มาจากประชาชนโดยตรง รับทราบปัญหาทุกเรื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรก บางอย่างเราไม่สามารถทำได้เอง จึงขอให้รัฐบาลปลดล็อค เพื่อให้สามารถการแก้ไขโควิด-19 ได้โดยเร็ว 

 

จึงออกแถลงการณ์ที่มีข้อเสนอแนะต่อนายกฯ ดังนี้ 

 

1.จัดหาชุดตรวจโควิด แบบเร่งด่วน (Rapid Antigen test) ค้นหาเบื้องต้นผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ในชุมชน  และเครื่องตรวจ RT – PCR test เพื่อตรวจหาเชื้อยืนยัน  ตลอดจนจัดหาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มสมรรถนะการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งในระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดซื้อชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน  เพื่อตรวจให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้ด้วย เป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์

2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19  ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับต่อการแปรเปลี่ยนของสายพันธุ์ไวรัสที่มีการแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมากขึ้น 

 

ขณะเดียวกันขั้นตอนการขออนุมัติในการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด - 19 ทั้งในเชิงของการตรวจคุณภาพ ตลอดจนขั้นการรับรอง  ขอให้ลดระยะเวลาในการอนุมัติให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถือว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินจำเป็นจะต้องแข่งกับเวลา

 

3.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลเอกชน สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19  วัคซีนทางเลือกได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นจะต้องจัดซื้อจากหน่วยงานที่ศบค.กำหนด  เพื่อให้การนำเข้าวัคซีนทางเลือกรวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น  

 

ขณะเดียวกันขอให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกประกาศการรับรองวัคซีนทางเลือกที่อนุญาตให้นำเข้าตลอดจนกำหนดราคากลาง  เพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดซื้อให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ส่วนโรงพยาบาลเอกชนให้สิทธิ์และความเป็นอิสระในการจัดซื้อเป็นของโรงพยาบาลเอกชน   
                               3 สมาคมท้องถิ่นจี้นายกฯปลดล็อกหา“Rapid test–วัคซีนโควิด”ให้ประชาชนฟรี   

และ 4.ขอให้ออกระเบียบรองรับในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยข้อเท็จจริงในองค์กรปกครองท้องถิ่นหนึ่งๆ  จะต้องมีประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะมาศึกษา ประกอบอาชีพ หรือมารับจ้างแรงงาน แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าว  ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อยู่ในพื้นที่มีโอกาสเป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนในท้องถิ่น 

 

เพราะฉะนั้นแนวนโยบายของ ศบค. ในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อ อีกนัยหนึ่งก็ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้นการเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่หนึ่งๆ ให้มากกว่าร้อยละ  70 เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำ โดยเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อาศัยในท้องถิ่นไม่เฉพาะเจาะจงประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอาศัยในท้องถิ่นหรือจังหวัดนั้นๆ

 

“ตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด- 19 ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล และจังหวัดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย แอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การดูแล อสม. จนถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ 


พวกเราตระหนักถึงความจำเป็นและวิกฤตที่เกิดขึ้น และต้องการให้วิกฤติการณ์ครั้งนี้ได้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด  จึงหวังว่าข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้คลี่คลายลง  และหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาอย่างเที่ยงธรรม บนพื้นฐานบนประโยชน์สูงสุดของประชาชน”  
 

นายพงษ์ศักดิ์  ยืนยันว่า หากเราสามารถจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนได้ จะฉีดให้ฟรี เพราะวัคซีนก็มาจากเงินภาษีประชาชน จึงไม่ควรเก็บค่าบริการใดๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาทุกข์ยากให้กับประชาชน  

 

รวมทั้งเรื่องการเยียวยาก็พบว่ายังมีปัญหาหลายกรณี เช่น ผู้นำครอบครัวติดโควิด-19 ก็ได้รับการช่วยเหลือแค่ถุงยังชีพและได้รับอาหารรายวันเท่านั้น  การได้รับเงินเยียวยามีขั้นตอนยุ่งยาก จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยทบทวน โดยเฉพาะกฎหมายหลายตัวที่ออกมาก่อนเกิดภัยพิบัตินี้  ที่เป็นภัยธรรมชาติเป็นหลัก  แต่วันนี้เป็นภัยชีวภาพ ดังนั้นควรทบทวนระเบียบเหล่านี้  

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนี้ข้อเสนอ  เราก็คงทำอะไรไม่ได้  เพียงแต่เราในฐานะตัวแทนประชาชน ขอส่งเสียงให้ได้รับทราบว่าเราพร้อมช่วยแก้ไขปัญหาครั้งนี้

 

ด้าน นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และอุปนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย   กล่าวว่า เราเสนอให้สาธารณสุขจังหวัดสามารถจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Rapid Antigen test) แจกจ่ายประชาชนในหมู่บ้าน  เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างรวดเร็ว  และแก้ไขปัญหาได้ทันถ่วงที

 

ทั้ง 3 สมาคมมีพื้นที่ทุกตารางนิ้วอยู่ในความดูแลของพวกเรา  ถ้าเราช่วยได้ และคิดว่าไม่เกินความสามารถ เพราะเรามีสาธารณสุขจังหวัด  และมี อสม. เชื่อว่าไม่มีปัญหา  และจะทำงานรวดเร็วกว่าปัจจุบัน  ถ้าเปิดโอกาสให้เราด้วยการปลดล็อคระเบียบขั้นตอนเพื่อให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพ  

 

“ขอให้มั่นใจ 3 สมาคม พร้อมดูแล ป้องกัน รักษาประชาชน ยืนยันทุก อบจ.มีเงินซื้อสิ่งดีๆให้ประชาชน  เรื่องเงินไม่มีปัญหา จะได้ไม่มีความเหลื่อมล้ำถ้าเปิดกว้างให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม  และยืนยันเรามีเงินซื้อวัคซีน  พร้อมซื้อโดยไม่กู้ใคร  เพื่อให้ประชาชนได้ฉีดฟรี  แต่ตอนนี้ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน  เพราะช่องทางไม่เปิดกว้าง ชีวิตของคนไทยถ้าเปิดกว้าง  ซื้อได้ง่ายคงไม่มีปัญหาแบบทุกวันนี้  หากให้ซื้อจริง ฉีด 4 โดสยังสบาย”นายบุญชู กล่าว

 

ส่วน นายพรเทพ ประดับพลอย นายกเทศมนตรีตำบลบางม่วง จ.นนทบุรี กล่าวถึงความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าควรจะมีชุดตรวจที่ทราบผลอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างพนักงานเก็บขยะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ  เป็นเรื่องยุ่งยากที่จะไปเข้าคิวเพื่อขอตรวจ เนื่องจากในปัจจุบันมีขยะติดเชื้อ รวมถึงหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก  

 

ดังนั้นหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อชุดตรวจได้เอง ก็จะสามารถตรวจและคัดกรองได้  แต่ทุกวันนี้หากคนขับรถเก็บขยะติดเชื้อก็ต้องใช้พนักงานดับเพลิงมาขับรถแทน