หมอยง ไขข้อข้องใจ "ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ" ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

13 ก.ค. 2564 | 19:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 03:09 น.
4.0 k

หมอยง แจงประเด็น ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เผยไทยฉีดไปแล้วกว่า 1,200 คน ไม่มีผลข้างเคียง มีความปลอดภัย ย้ำชัดการฉีดสลับช่วยกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์

สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เข็มที่ 1  ซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า โดยเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และเชื้อกลายพันธุ์เดลตา พร้อมยืนยันมีผลข้างเคียงน้อยมาก 


จากกรณีนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงในประเด็น "การให้วัคซีนโควิด19 สลับชนิด " โดยได้เกริ่นนำว่า ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ. 64 เป็นวันแรก จนถึงวันนี้ยังฉีดไม่ถึง 13 ล้านโดส 


สาเหตุที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ไปถึงเป้าหมายเพราะวัคซีนมีจำกัด ดังนั้นจำเป็นต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด รูปแบบการให้จึงมีความจำเป็น โดยระยะแรกทุกบริษัทผลิตวัคซีนจากไวรัสอู่ฮั่น แต่ปัจจุบันไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์


ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมคิดว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มสามารถป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่ปัจจุบันสายพันธุ์เดลต้า 1 เข็มนั้นป้องกันไม่ได้ (รอเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า อีก 10 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นถึงป้องกันได้) จึงเป็นที่มาของการหาจุดสมดุล ทำอย่างไรให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเร็วที่สุด ให้เหมาะสมมากที่สุด ในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปมาก 


"ถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ภูมิต้านทานก็ไม่สูงพอจะต้านกับสายพันธุ์เดลต้าได้ และการฉีดเข็ม 2 ของแอสตร้าเซนเนก้าก็ต้องใช้เวลาอีก 10 สัปดาห์ ก็จะช้าไป ดังนั้นเราจึงทำการศึกษา โดยฉีดเชื้อตาย(ซิโนแวค) ก่อนแล้วค่อยฉีดไวรัลเวคเตอร์Viral Vector (แอสตร้าเซนเนก้า)ผลปรากฏว่าการกระตุ้นภูมิต้านทานสูงขึ้นกว่าที่คาดคิด แม้จะสูงไม่เท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่เราลดระยะเวลาเหลือแค่ 6 สัปดาห์ ไม่ต้องรอถึง 10-12 สัปดาห์"
 

ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพราะฉะนั้นในสถานการณ์ของโรคระบาดที่ระบาดรวดเร็วและรุนแรง ในตอนนี้ ไม่สามารถรอได้ถึง 12 สัปดาห์ ดังนั้นหากอยากให้ภูมิสูงเร็ว การฉีดวัคซีนสลับเข็มและ ใช้เวลาแค่ 6 สัปดาห์ น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีการระบาดของโรค 


ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีวัคซีนแค่ 2 ชนิดนั่น ก็คือ เชื้อตาย(ซิโนแวค)และไวรัลเวคเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) จึงเป็นการเหมาะสมในช่วงเวลานี้ แต่อนาคตถ้ามีวัคซีนอื่นที่ดีกว่า หรือพัฒนาได้ดีกว่า  ก็ค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรือในอนาคตถ้าไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ก็อาจจะมีวัคซีนที่จำเพาะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้น ยกตัวอย่าง ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี


ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัย หากมีการฉีดสลับยี่ห้อ โดยระบุว่า  ความปลอดภัยของวัคซีนต้องมาก่อน ถามว่าการสลับยี่ห้อจะปลอดภัยไหม แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการศึกษา ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น มีการฉีดสลับยี่ห้อไปแล้วมากกว่า 1,200 คน (ฉีดที่รพ.จุฬาฯ) โดยในจำนวนนี้บันทึกอาการข้างเคียงผ่านระบบหมอพร้อม และในรายงานไม่มีใครที่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้นการฉีดสลับยี่ห้อกันมีปลอดภัยในชีวิตจริง


"การฉีดสลับยี่ห้อ มีตัวอย่างในต่างประเทศ อย่างในอังกฤษ โดยทีมอ็อกฟอร์ด มีการใช้วัคซีนไฟเซอร์สลับแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนบ้านเราจากข้อมูลที่ระบุในหมอพร้อม จากจำนวน1,200 คนที่ได้ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อกัน ก็ถือว่าข้อมูลมากพอสมควรและอาการข้างเคียงก็ไม่มีอะไรรุนแรง ก็ขอให้สบายใจ เราไม่ได้ฉีดสลับเป็นคนแรก เราฉีดมาแล้วมากกว่า 1,200 คน ส่วนการศึกษาทางคลินิกกำลังจะออกมาสิ้นเดือนนี้ เป็นการบันทึกทุกวัน  "
 

ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโคโรนาไวรัส เป็นจำพวก RNA การกลายพันธุ์ถือเป็นเรื่องปกติ โดยโคโรนาไวรัส หรือโควิด -19  มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์อู่ฮั่นจากจุดเริ่มจะเป็นสายพันธุ์  L , S ต่อมาแพร่ระบาดไปยุโรปเป็นสายพันธุ์ G ,V และต่อมาเกิดสายพันธุ์อินเดียหรือเดลต้า ก็แพร่ง่ายกว่าอังกฤษ หรือ  สายพันธุ์ G 


สำหรับประเทศไทย รอบแรกปีที่แล้วเป็นอู่ฮั่น คนไข้หลักสิบ ต่อมาสมุทรสาคร ระลอกสองเป็นสายพันธุ์ G คนไข้หลักร้อย ต่อมาสายพันธุ์อังกฤษ สถานบันเทิง สายพันธุ์นี้แพร่ง่าย 1.7 เท่าจึงครองอยู่ระยะหนึ่ง แล้วถึงเป็นสายพันธุ์อินเดีย เดลต้า และตอนนี้ที่แพร่ระบาดเป็นเดลต้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในกทม เป็นเดลต้า 70-80 % และมีแนวโน้มสายพันธุ์นี้จะระบาดทั่วประเทศ


ส่วนสายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงหลีกหนีวัคซีนได้เก่งที่สุด ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดต่ำอย่างมาก แต่ว่าการแพร่กระจายทำได้น้อยกว่า จึงเบียดสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้ที่เป็นอยู่คือสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์นี้มีปริมาณไวรัสที่อยู่ในลำคอผู้ป่วยเยอะมาก แพร่กระจ่ายงาย โอกาสติดต่อคนสู่คนได้ง่าย


ดังนั้นจึงอยากให้ตระหนักว่าสายพันธุ์เดลต้านี้ การหาไทมไลน์ ไล่ว่าติดจากใคร จะเริ่มยาก เพราะการติดต่อง่าย ปริมาณไวรัสสูง ดังนั้นทุกคนต้องเคร่งครัดมีวินัย ใส่หน้ากาก100 กำหนดระยะห่าง และสุขอนามัยต้องเต็ม 100 %  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันดีกว่าวัคซีนที่ฉีดอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ จึงขอให้ทุกคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือที่กำลังรอฉีดวัคซีน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด


ศ.นพ.ยง กล่าวทิ้งท้ายว่า จะยุติวิกฤตินี้ไปได้ นอกจากที่จะต้องปฏิบัติตัวมีวินัยอย่างเคร่งครัดแล้ว วัคซีนจะเป็นตัวช่วยอีกตัวที่จะหยุดวิกฤตอันนี้ ถ้าถามว่าควรฉีดวัคซีนไหม คำถามนี้บอกได้เลยว่าทุกคนควรได้รับวัคซีน แต่แน่นอนว่า วัคซีนมีจำนวนจำกัดจึงขอฉีดให้กับกลุ่มผู้ที่เสี่ยง บุคลากรด่านหน้าก่อน และเมื่อมีวัคซีนมากพอ ก็จะไล่ตามลำดับลงไป หลังจากนั้นก็ค่อยให้เด็ก แต่ก็ต้องรออีกระยะพอสมควร และในอนาคตวัคซีนของเด็กจะต้องมี