ทีดีอาร์ไอชำแหละ “รัฐบาลประยุทธ์ 2”กระจายวัคซีนโควิด-19 "บิดเบี้ยว"

12 ก.ค. 2564 | 17:57 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 01:20 น.
1.3 k

“ดีอาร์ไอ”ประเมิน “รัฐบาลประยุทธ์ 2” กระจายวัคซีนโควิด -19 “บิดเบี้ยว” ยก “บุรีรัมย์” ฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ 3 แสนโดส 19% ของประชากร ทั้งที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ไม่มีความเร่งด่วน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ “ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน” 


“ฐานเศรษฐกิจ” ขอนำเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 หลังเกิดการระบาดระลอก 3 มานำเสนอ ดังนี้

 

ไทยมียอดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเดือน มี.ค.2564 ประมาณ 2.8 หมื่นคน แต่หลังจากนั้นภายในช่วงเวลา 3 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมนี้เพิ่มขึ้น 10 เท่า เป็น 3.17 แสนคน ณ วันที่ 9 ก.ค. 2564 และตัวเลขนี้น่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในระดับเกือบ 1 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 

 

ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 เพิ่มขึ้นจาก 94 คน ณ สิ้นเดือน มี.ค.2564 จนสูงกว่า 2.5 พันคน ณ วันที่ 9 ก.ค.2564  

 

นอกจากนี้ น่าจะมีผู้เสียชีวิตทางอ้อมจากอาการโรคแทรกซ้อน หรือ การฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางจิตใจและปัญหาทางเศรษฐกิจ 

 

ที่เป็นปัญหามากไปกว่านั้นคือ การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤติที่เป็นไปอย่างสับสน  รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกลับไปกลับมา ซึ่งสะท้อนถึงการพิจารณาที่ไม่รอบคอบก่อนการประกาศ 

 

การบริหารจัดการวัคซีน จนถึงวันที่ 6 มิ.ย.2564 ไทยดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างช้าๆ โดยมีการฉีดวัคซีนสะสมรวมทุกเข็มประมาณร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีอัตราการฉีดวัคซีนสะสมที่ร้อยละ 11 และ 10 ตามลำดับ หลังจากวันที่ 6 มิ.ย.เป็นต้นมา ไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในวันที่ 8 ก.ค. ใกล้เคียงกับอินโดนีเซียแล้ว  


การจัดหาวัคซีน รัฐบาลมีแผนที่จะจัดหาวัคซีนรวม 200 ล้านโดส ภายในปี 2565 จนถึงช่วงต้น ก.ค.2564 ได้จัดหาวัคซีนมาได้แล้วทั้งสิ้น 80.5 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวค 19.5 ล้านโดส และกำลังจะจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์อีก 20 ล้านโดส แต่การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมีปัญหาหลายประการคือ 
 

1.รัฐบาลมีความเชื่อมั่นที่สูงเกินไปว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับ
ต่ำได้ตลอดไป ทำให้ล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและจัดหามาในปริมาณที่น้อยเกินไป  

 

2.รัฐบาลมีแนวทางในการจัดหาวัคซีนตามแนวคิดทางสาธารณสุขเป็นหลัก ในลักษณะตั้งเป้าการฉีดวัคซีนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ในขณะที่การวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ในทางเศรษฐกิจพบว่า  ต้นทุนในการจัดหาวัคซีนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการที่ประเทศเปิดรับการท่องเที่ยวได้ล่าช้า กล่าวคือ หากประเทศไทยสามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นอีกเพียง 1-2 เดือน ก็จะคุ้มค่ากับต้นทุนในการจัดหาวัคซีนทั้งหมดแล้ว

 

3.การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลสะท้อนถึงการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด โดยการพึ่งพาวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก และการเลือกวัคซีน “ซิโนแวค” เป็นวัคซีนเสริม โดยไม่หาทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้น รวมทั้งการตัดสินใจไม่เข้าร่วมในโครงการ Covax ที่แม้อาจจะได้วัคซีนมาไม่มาก แต่ก็น่าจะช่วยให้ได้วัคซีนเพิ่มเติมมาก่อนบางส่วน 

 

4.วัคซีนเสริมที่รัฐบาลเลือกใช้คือ “วัคซีนซิโนแวค” เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลไม่สูงในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ จึงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันการติดเชื้อในวงกว้างให้แก่ประชาชนไทยได้ แต่การสั่งซื้อวัคซีน “ซิโนแวค” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ...นำไปสู่ข้อสงสัยของสังคมต่อกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาล และการให้คำแนะนำของที่ปรึกษาบางคนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

 

5.การให้ข่าวจำนวนการรับมอบวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ผลิตในประเทศของรัฐบาล น่าจะไม่ตรงกับเงื่อนไขตามสัญญาที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลและบริษัท โดยรัฐบาลได้ให้ข่าวมาตลอดว่าจะได้รับมอบวัคซีนในเดือน ก.ค.ไปจนถึงเดือน ก.ย. เดือนละประมาณ 10 ล้านโดส แต่ภายหลังกลับแจ้งว่าจะได้รับมอบตามสัญญาเพียงเดือนละ 5 ล้านโดสเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลพึงรู้ได้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเงื่อนไขตามสัญญาเป็นอย่างไร  
 

ที่น่าตกใจก็คือ แม้ในช่วงที่มีการระบาดหนัก หน่วยงานภาครัฐยังคงดำเนินงานเสมือนอยู่ในสถานการณ์ปกติ โดยทำงานกันแบบแยกส่วนและโยนความรับผิดชอบกันไปมา ในขณะที่ “ฝ่ายการเมือง” ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ติดตามและเชื่อมโยงให้เกิดการประสานงานกัน  


การกระจายวัคซีน รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ในการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยให้ความสำคัญในระดับสูงต่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการกระจายวัคซีนก็คือ การขาดความเป็นเอกภาพ โดยพรรคร่วมรัฐบาลได้แย่งบทบาทกันในการกระจายวัคซีน ทำให้เกิดหลายช่องทางในการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ทั้งช่องทางของหมอพร้อม ระบบประกันสังคม (ม. 33) แพลตฟอร์มไทยร่วมใจ และการลงทะเบียนแบบ on site โดยไม่มีกลไกการประสานงานที่ดี   

                                ทีดีอาร์ไอชำแหละ “รัฐบาลประยุทธ์ 2”กระจายวัคซีนโควิด-19 \"บิดเบี้ยว\"      

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การกระจายวัคซีน “บิดเบี้ยว” ไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์ ดังปรากฏว่า บางจังหวัดเช่น บุรีรัมย์ มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็ม หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก และไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีความเร่งด่วน ในการได้รับวัคซีนตามแผน (ดูกราฟิกประกอบ) 

 

นอกจากนี้ ยังมีการลัดคิวในการฉีดวัคซีนมากมาย โดยใช้เงินบริจาค หรือส ายสัมพันธ์กับผู้บริหารโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน จึงทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน 

 

การจัดสรรวัคซีนที่ “บิดเบี้ยว” นี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากการป่วยหนัก และการเสียชีวิตของประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว 

 

น่าเสียดายว่า แม้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกก่อนหน้า แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง จนสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

 

กรณีผิดพลาดนี้สมควรต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต