รู้จัก “ไอเวอร์เม็กติน” รักษาโควิดได้จริงหรือไม่

30 มิ.ย. 2564 | 20:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 02:01 น.
4.6 k

“ไอเวอร์เม็กติน” เป็นยาฆ่าพยาธิ มีการศึกษาช่วยยับยั้งโควิด เสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ในหลอดทดลอง ข้อมูลวิจัยทางคลินิก ยังไม่พอ กรมการแพทย์และศิริราชกำลังศึกษาในผู้ป่วยเพิ่มเติม

จากกรณีกรมการแพทย์ แถลงถึงแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการใช้ ยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) ซึ่งเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยระบุว่า ขณะนี้แนวทางการรักษาโควิด ได้มีการปรับปรุงทุกเดือน ล่าสุด คือ แนวทางการรักษาฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่าให้การรักษาด้วยยาไอเวอร์เม็กติน เป็นเพียงแนวทางการรักษาแบบหมายเหตุ ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ใช้ยานี้ หรือห้ามนำมาใช้รักษาโดยเด็ดขาด แต่ให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ และขอให้ปฏิบัติแนวทางการรักษาหลักของประเทศ 

ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษา และแม้มีการทดลองใช้รักษาในประเทศอินเดีย ก็เป็นเพียงการใช้ในระยะเวลาหนึ่ง และมีการประกาศยกเลิกการใช้แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะว่าการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินรักษาโควิด-19 ให้ผลสำเร็จในหลอดทดลองเท่านั้น
 

ยาไอเวอร์เม็กติน กับการรักษาโควิด 
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า ยาไอเวอร์เม็กตินเป็นยาฆ่าพยาธิ ในต่างประเทศมีการศึกษาว่าช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด 19 ในหลอดทดลอง ส่วนข้อมูลงานวิจัยว่าลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด นั้น เป็นการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวกับยาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมดที่สืบค้นได้แล้วนำมาวิเคราะห์ผล

แต่งานวิจัยที่รวบรวมมีวิธีการศึกษาแตกต่างกัน ใช้ปริมาณยาต่างกัน หรือมีการใช้ร่วมกับยาตัวอื่น จึงส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาทบทวนจึงสรุปว่าอาจจะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดได้

ทั้งนี้ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด ผู้เชี่ยวชาญทั้งของกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย มีการหารือถึงองค์ความรู้เพื่อจัดทำแนวทางการรักษาโรคโควิด 19 ล่าสุดคือฉบับที่ 15 วันที่ 25 มิถุนายน 2564 จึงระบุในหมายเหตุว่า

มีข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองเบื้องต้นว่า ยาไอเวอร์เม็กตินเสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย จึงยังไม่ใช่การรักษามาตรฐาน การใช้ยานี้ขอให้เป็นไปตามดุลยพินิจหรือวิจารณญาณของแพทย์ เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการยังไม่ชัดเจนและขัดแย้งกันอยู่

ทั้งนี้ กรมการแพทย์จึงร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ทำการศึกษายาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยโควิด 19 พื้นที่ กทม. เป็นการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนหลักพันคนขึ้นไป โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาตามแนวทางมาตรฐาน คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ และอีกกลุ่มรับยาฟาวิพิราเวียร์ร่วมกับเพิ่มยาไอเวอร์เม็กติน เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ โดยขอย้ำว่าอย่าซื้อยานี้มาใช้เอง เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีข่าว ยาไอเวอร์เม็กติน ที่มีกระแสนำมารักษาโรคโควิด 19 ว่า ยาไอเวอร์เม็กติน เป็น ยาฆ่าพยาธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ในสัตว์ ส่วนในคนมีใช้กับพยาธิบางตัวและคนที่เป็นหิด 

 ‘ยาไอเวอร์เม็กติน’  (Ivermectin) มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ ปัจจุบันมีทะเบียนตำรับสำหรับสัตว์ประมาณ 200 ทะเบียน และมีทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย อยู่ 2 ทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 ทะเบียนจัดเป็นยาอันตราย และอยู่ในบัญชีรายการยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่มีการใช้ค่อนข้างน้อย

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่พิจารณาให้ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด  เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบว่าไม่ช่วยลดอัตราการตาย การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย

ด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA)  ไม่อนุมัติให้มีการใช้ยานี้ในการป้องกัน หรือการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดในมนุษย์เช่นเดียวกัน

องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน สำหรับการป้องกัน หรือการรักษาโควิด ในสหภาพยุโรป แต่ให้ใช้ในการศึกษาทางคลินิกเท่านั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาระบุว่ายานี้สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิดได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษที่สูงขึ้นได้ เช่น เกิดความดันเลือดต่ำ อาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ ชัก หรือโคม่าถึงแก่ชีวิตได้ EMA จึงไม่ให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด

ดังนั้นยาไอเวอร์เม็กตินยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือ รักษาโรคติดเชื้อโควิด มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษา 
 

ยาไอเวอร์เมคติน Ivermectin คืออะไร 
ยาฆ่าพยาธิ ซึ่งใช้รักษาโรคที่มีสาเหตุจากพยาธิตัวกลม เช่น โรคพยาธิไส้เดือน โรคพยาธิตัวจี๊ด และโรคจากปรสิตบางชนิด เช่น โรคหิด หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์  เนื่องด้วย ‘ยาไอเวอร์เมคติน’ มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

คำเตือนในการใช้ ยาไอเวอร์เมคติน มีดังนี้

แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้

ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 

แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ

ควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยานี้พร้อมกับยาวาร์ฟาริน เพราะอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดอยู่เสมอ

ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรระมัดระวังเวลาลุกขึ้นยืน เดินขึ้นหรือลงบันได เพราะยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะหรือหมดสติได้ แม้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม

หลังจากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรตรวจอุจจาระซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่าหายจากโรคที่เป็นอยู่หรือไม่

ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร

ยานี้อาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และยาเลวาไมโซล จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Ivermectin หากกำลังใช้ยาเลวาไมโซลอยู่

ปริมาณการใช้ยา Ivermectin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา 

ผลข้างคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ ยาไอเวอร์เมกติน 
การใช้ยา Ivermectin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิว หรือมีอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หมดแรง

หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา อย่างไรก็ตาม หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

มีอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ ผิวบวมแดง มีตุ่มพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรืออาจไม่มีไข้ หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอกหรือลำคอ มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ หน้าบวม ปากบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม

เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ

การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เจ็บตา หรือระคายเคืองตาอย่างรุนแรง

ระคายเคืองผิวอย่างรุนแรง

ตัวบวม หรือต่อมต่าง ๆ บวมโต

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน