"วัคซีนโควิด" ไฟเซอร์ 2 เข็ม สร้างเเอนติบอดีเหนือกว่าซิโนเเวค 11 เท่า

26 มิ.ย. 2564 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2564 | 10:34 น.
5.2 k

แพทย์ศิริราช เผยผลงานวิจัยพบว่าวัคซีนโควิดไฟเซอร์ 2 เข็ม สามารถกระตุ้นสร้างเเอนติบอดีได้เหนือกว่าวัคซีนซิโนเเวค 11 เท่า

จากกรณีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด

ล่าสุด ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว มานพ พิทักษ์ภากร โดยระบุว่าวัคซีนโควิดไฟเซฮร์ หรือ Pfizer vaccine สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้เหนือกว่าวัคซีนโควิดซิโนแวค หรือ  Sinovac vaccine ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนหลายคนได้เห็นข่าวทีมนักวิจัยจาก HKU นำเสนอข้อมูลที่สรุปได้ว่าคนที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer x BioNTech มีภูมิคุ้มกันสูงกว่า Sinovac แต่ยังไม่เห็นข้อมูลผลการศึกษาจริง

ศ.นพ.มานพ นำงานวิจัยที่ลงใน Hong Kong Medical Journal ที่เปรียบเทียบระดับ anti-spike antibody และ surrogate neutralizing antibody ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือ Sinovac หลังฉีดเข็มแรก และหลังฉีดครบสองเข็ม กลุ่มละราว 200 คน ผลการวิจัยพบว่า 

“ระดับแอนติบอดี ที่วัดโดย 3 เทคนิค (Roche, Genscript และ Abbott) ในพลาสม่าของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer สูงกว่า Sinovac อย่างชัดเจน โดยระดับ antibody ของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer เข็มแรก มีค่าสูงพอ ๆ กัน หรือสูงกว่าผู้ที่ได้ Sinovac ครบสองเข็มนิดหน่อย และผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบสองเข็ม และตรวจด้วยชุดตรวจ Roche และ Genscript น่าจะมีค่าสูงมากจนชนเพดานของการวัด ทำให้เปรียบเทียบระดับ antibody ของผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ได้ยาก แต่ถ้าดูระดับ antibody ที่วัดด้วยชุดตรวจของ Abbott จะพบว่าระดับ antibody ของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบสองเข็ม สูงกว่า Sinovac ราว 11 เท่า”

นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวัคซีน Sinovac และ Pfizer หาได้ยาก เพราะมีไม่กี่ประเทศในขณะนี้ที่มีการใช้วัคซีนทั้งสองยี่ห้อพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ฮ่องกงเป็นที่ที่น่าจะทำการศึกษานี้ได้ดี เพราะสัดส่วนคนที่ฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพอ ๆ กัน ข้อมูลนี้แม้ไม่ใช่การวัด vaccine effectiveness (VE) ตรง ๆ แต่ก็เป็น surrogate ที่ดี การดู VE คงต้องอาศัยการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อไปอีกระยะ

อย่างไรก็ตามวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ซึ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์  ถือเป็นวัคซีนโควิด รายการที่ 6 ของไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจาก อย.ได้อนุมัติวัคซีนโควิดไปแล้ว 5 ราย ได้แก่

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 

วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม 

วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด

วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

วัคซีนซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

วัคซีนไฟเซอร์ตัวนี้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่คิดค้นและพัฒนาโดย บริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัท ไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) ประเทศเยอรมนี ซึ่งแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) แล้ว

ข้อมูลอ้างอิงที่นี่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง