ประสิทธิภาพ “วัคซีนโควิด” กับสายพันธุ์เดลตา

23 มิ.ย. 2564 | 17:15 น.
3.4 k

โควิดสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย อาจระบาดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฐานเศรษฐกิจรวบรวม ประสิทธิภาพ “วัคซีนโควิด” จากข้อมูลเบื้องต้นที่มีอยู่ในขณะนี้

โควิดสายพันธุ์เดลตา B.1.617.2  หรือสายพันธุ์อินเดีย ที่วงการแพทย์คาดการณ์ว่าจะระบาดแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ในประเทศไทยพบสายพันธุ์เดลต้าระบาดครั้งแรกที่แคมป์คนงานหลักสี่ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา "นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์" อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ว่า สัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยพบสายพันธุ์เดลต้าถึง 10.47 % และขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 19 จังหวัด รวม 661ราย กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 400 ราย 

"ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องปกติ โดยข้อมูลขณะนี้พบว่าสายพันธุ์เดลต้าเริ่มมีอัตราการแพร่ระบาดสูงขึ้นหากไม่มีการควบคุมคาดว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลต้าจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจนเข้ามาแทนที่สายพันธุ์แอลฟ่า(อังกฤษ)  และเชื่อได้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก

ดังนั้น ในไทยจะต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด และปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด เช่น ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 เร็วขึ้น หรือซิโนแวค ที่ฉีด 2 เข็มแล้วภูมิยังต่ำ ถ้ากระตุ้นเข็มที่ 3 เข้าไปก็เชื่อว่าจะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ไฟเซอร์ ขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็ม 3 ว่าจะให้ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน รวมถึงการให้ชนิดเดิมหรือต่างชนิด หรือข้ามไปหาวัคซีนตัวใหม่ คือชนิด mRNA เลย
 

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่มีข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้

•    วัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2เข็ม สร้างภูมิคุ้มกันได้เพียง ร้อยละ 79 จากเดิม ร้อยละ90  (รายงานจากสกอตแลนด์และจากอังกฤษ) กันติดได้ตั้งแต่มากกว่า 79% ไปจนถึง 96%  ต้องฉีดห่างกันสามถึงสี่สัปดาห์
•    วัคซีนแอสตราเซนเนก้า  ครบ 2 เข็ม สร้างภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ60 จากร้อยละ 88 ซึ่งพบว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคสำหรับสายพันธุ์เดลต้า ส่วนการฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 33% เท่านั้น
•    วัคซีนซิโนแวค  ครบ 2 เข็ม  ภูมิยังต่ำ ถ้ากระตุ้นเข็มที่ 3  เนื่องจากผลการวัดระดับภูมิคุ้มกันยังต่ำกว่า 70% และยังไม่น่าพอใจเท่าที่ควร และจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ลดลงอีกด้วย ข้อมูลบุคลาการทางการแพทย์ในอินโดนีเซียติดเชื้อมากกว่า 350 คนหลังฉีดแล้ว 2 เข็ม ทำให้มีข้อกังวลเรื่องประสิทธิภาพป้องกัน
•    วัคซีนโมเดอร์นา  มีประสิทธิภาพพอๆกับไฟเซอร์ ในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งแม้จะลดประสิทธิภาพลงไปบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้ดีหลังจากฉีดสองเข็ม แต่ถ้าฉีดเข็มเดียว ก็น่าจะป้องกันไม่ได้มากเช่นกัน (33%) ต้องฉีดห่างกันสามถึงสี่สัปดาห์
 

สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์เดลตา

-  เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 5 ราย จากเดิมข้อมูลเดือน เม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย.64 พบ 3 ราย เพิ่มขึ้น 2 รายในช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.64
-  เขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 2 ราย เป็นตัวเลขตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึงวันที่ 13 มิ.ย. ไม่เพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 1420 มิ.ย.
-  เขตสุขภาพที่ 3 ไม่พบสายพันธุ์เดลตา
-  เขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 105 ราย จากเดิมเม.ย.ถึง 13 มิ.ย.จำนวน 40 ราย เพิ่มเป็น 65 รายวันที่ 14-20 มิ.ย. 64
-  เขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 2 ราย จากเดิม 1 รายตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. เพิ่มอีก 1 ราย ช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.
-  เขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 2 รายตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. นอกนั้นยังไม่พบ
-  เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 4 รายตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. นอกนั้นยังไม่พบ
-  เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 40 ราย เดิมพบ 30 รายตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. เพิ่มอีก 10 รายช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.
-  เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 7 ราย เดิมพบ 4 ราย ตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. เพิ่มอีก 3 รายช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.
-  เขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 3 ราย ตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. นอกนั้นยังไม่พบ
-  เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ยังไม่พบสายพันธุ์เดลตา
-  เขตสุขภาพที่ 13 จำนวน 491 ราย จากเดิม 404 รายตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. เพิ่มอีก 87 รายช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.

การจำเเนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง

สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์เบตา

-สายพันธุ์เบตา ยังพบในภาคใต้ จำนวน 38 ราย
-เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 2 ราย พบในช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.64
-เขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 33 ราย จากเดิม 28 รายตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงวันที่ 13 มิ.ย. 64 เพิ่มอีก 5 รายในช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย.64

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่แล้ว 8.5 ล้านโดส ตามแผนที่ ศบค.กำหนด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ฉีดวัคซีนแล้ว 7,906,696 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,678,848 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 2,227,848 โดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีนซิโนแวค 5,550,891 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2,355,805 โดส

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน กำหนดระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ สามารถขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. บริหารจัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

ขณะที่แผนการเปิดประเทศ  120 วัน ตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน พร้อมจัดหาวัคซีนให้ได้ 105.5 ล้านโดส โดยในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ดังนี้
•    แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส
•    ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส
•    ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
•    จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง