เผยโฉม “LOKALT” หัตถกรรมร่วมสมัยท้องถิ่น IKEA 

16 มิ.ย. 2564 | 10:00 น.

หากใครที่มองหาเครื่องเรือนและของใช้ในบ้าน ที่มีดีไซน์เรียบๆ เก๋ๆ ไม่ทำลายธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังดูแลสังคม อิเกีย (IKEA) ถือว่าตอบโจทย์ เพราะนอกจากเป็นองค์กรระดับโลกแล้ว นโยบายด้านความยั่งยืนของอิเกีย ยังเป็นเครื่องการันตีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์

ก่อนหน้านี้ “ลาช สเวนสัน” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก ได้ออกมาพูดถึง ความมุ่งมั่นของอิเกียทั่วโลก ที่ตั้งใจควบคุมการดำเนินงานไม่ให้ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศให้ได้ภายในพ.ศ. 2573 โดยปีที่ผ่านมาได้ประกาศหยุดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งในสโตร์อิเกียทุกแห่ง พร้อมทั้งเปิดตัวแพลนต์บอล เพื่อเพิ่มเมนูทางเลือกที่ทำจากผักในรายการสินค้าอาหาร และยังพูดถึงการออกแบบสินค้าโดยใช้หลักการ Circular Design คือการใช้งานแบบหมุนเวียน จะต้องใช้เฉพาะวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือวัสดุรีไซเคิลเท่านั้น 


“ลาช” ยังได้พูดถึงการทำงานร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งอิเกียทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ผ่านโครงการ IKEA Social Entrepreneur ตอกย้ำวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการทำให้การใช้ชีวิตประจำวันดีขึ้น สร้างอาชีพระยะยาวให้ผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ลี้ภัยล่าสุด อิเกียทำงานร่วมกับนักออกแบบท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมร่วมสมัย สร้างโอกาสช่างฝีมือท้องถิ่น ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของแต่ละประเทศ ได้แก่ ไทย จอร์แดน และอินเดียร่วมกันออกแบบของใช้ในบ้านภายใต้คอลเล็คชั่น “LOKALT/ลูคอลต์

“ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าว่า มูลนิธิฯ ได้ส่งดีไซเนอร์ไปทำงานกับอิเกียถึง 4 ปี และได้เริ่มออกคอลเลคชั่นแรกเมื่อปี 2554 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จนปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วถึง12 คอลเลคชั่น และจากการที่อิเกียขยายช่องทางขายทั้งออนไลน์ และดิลิเวอรี่ ก็ถือเป็นการสร้างวอลลุมหรือปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นให้กับมูลนิธิฯ เป็นอย่างดี
 

ส่วน “พลอยพรรณ ธีรชัย” และ “เดชา อรรจนานันท์” ผู้ก่อตั้ง THINKK Studio สตูดิโอออกแบบสัญชาติไทย เล่าว่า THINKK Studio ทำงานกับชุมชนอยู่แล้ว สำหรับงานในคอลเลคชั่นนี้ THINKK Studio ได้นำเสนอชุดหัตถกรรมไทยและการจัดโต๊ะอาหารแบบไทยๆ ที่มีวัฒนธรรมรับประทานอาหารร่วมกัน และเพิ่มความทันสมัยและฟังก์ชั่นการใช้งานเข้าไป โดยร่วมมือกับทีมช่างฝีมืองานเครื่องปั้นดินเผาจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมและเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของอิเกีย มารับหน้าที่เป็นผู้ผลิต

เอกลักษณ์ของคอลเลคชั่นนี้ คือ ความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีดีไซน์ทันสมัย เชื่อมโยงเรื่องราวของท้องถิ่น ทำให้แต่ละชิ้นงานมีเสน่ห์ในความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง

เป้าหมายคือการทำเรื่องความยั่งยืนให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประเทศต่างๆ ด้วยเป้าหมาย 1.2 หมื่นงาน ภายในปี 2568 แล้ว อิเกียพยายามเรียนรู้การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทำให้สินค้าของอิเกียก้าวไปสู่ความแปลกใหม่มากขึ้น พร้อมๆ กับสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับธุรกิจและสังคม นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารอิเกียเน้นย้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564