ยอดจองฉีดวัคซีนโควิด "โมเดอร์นา" กระฉูด! 3 วันพุ่งทะลุ 2 ล้านราย

05 มิ.ย. 2564 | 13:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2564 | 12:07 น.
12.0 k

คนไทยตื่นแห่จองฉีด "วัคซีนโมเดอร์นา" 3 วันตัวเลขพุ่งทะลุ 2 ล้านราย “รพ.ธนบุรี” เผยมีผู้แสดงความจำนงทั้งองค์กรและประชาชนทั่วไปแล้วกว่า 1.8 ล้านราย บิ๊กเอกชนหนุนเพิ่มวัคซีนทางเลือก พร้อมควักเงินจ่ายเอง หวังลดงบประมาณรัฐ

หลังจากที่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน บรรลุ ข้อตกลงในการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” กับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยคาดว่าจะมีการสั่งซื้อและนำเข้าราว 10 ล้านโดส ในปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม ทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มเปิดรับลงทะเบียนแสดง ความจำนงฉีดวัคซีนโมเดอร์นา และพบว่าเพียง 1 สัปดาห์มีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 2 ล้านราย

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มียอดผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกว่า 8 แสนราย แสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนมาก แม้จะต้องรอวัคซีนเข้ามาและให้บริการฉีดได้ในปลายเดือนกันยายนก็ตามที

“จนถึงปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงฉีดวัคซีนโมเดอร์นาแล้วกว่า 1.8 ล้านราย แบ่งเป็น กลุ่มองค์กรต่างๆกว่า 1 ล้านราย และประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเข้ามาผ่านไลน์@THG อีกกว่า 8 แสนราย และคาดว่าจะยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่เปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในวันแรกมีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 1 แสนราย และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 แสนรายภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 วัน สำหรับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาของเครือโรงพยาบาลธนบุรี จะมีค่าบริการฉีดวัคซีน 2,000 บาทต่อเข็ม ไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์ประมาณ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ต้องการด้วย โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะยังไม่ต้องโอนเงินแต่อย่างใด

ด้านนายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุต เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เปิดให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงในการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยล็อตแรกคาดว่าจะเริ่มเข้าไทยในเดือนตุลาคม ส่วนราคาขณะนี้แม้จะยังสรุปไม่ได้แต่จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะราคา 1,200-1,600 บาทต่อเข็ม

“หลังเปิดให้ลงทะเบียนมีผู้สนใจเข้ามาแสดงความจำนงฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นจำนวนมาก เกินกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ แต่ขอไม่เปิดเผยตัวเลข เพราะประเมินว่าการตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนยังขึ้นอยู่กับระยะเวลา หากวัคซีนมาช้าคนก็อาจจะไปฉีดวัคซีนอื่นแทนได้ อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.”

ทั้งนี้โรงพยาบาลได้ติดต่อไปยังตัวแทนจำหน่ายวัคซีนหลายยี่ห้อ ทั้งไฟเซอร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนเมื่อสมาคมโรงพยาบาลเอกชนบรรลุข้อตกลงกับองค์การเภสัชกรรม ทางโรงพยาบาลจึงสั่งจองกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยโรงพยาบาลพร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกเต็มที่

ล่าสุด (4 มิ.ย.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ได้จัดหาวัคซีนซิโนแวคแล้ว 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส รวมเป็น 67 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาเพิ่มเติมอยู่ในขั้นตอนลงนามสัญญาคำสั่งจองวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามในสัญญาจองวัคซีน และวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำสัญญาจองวัคซีน โดยวัคซีน 2 ตัวนี้คาดว่าจะได้รวม 25 ล้านโดส และจะมีแผนจัดหาซื้อซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส ก็จะได้ครบ 100 ล้านโดส ซึ่งเป็นเป้าหมายจัดหาวัคซีนของไทยในปี 2564 (โดยปี 2565 จะเพิ่มอีก 50 ล้านโดส รวมเป็น 150 ล้านโดส) 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีวัคซีนทยอยออกมา แต่ปริมาณวัคซีนโดยรวมก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการฉีดของคนไทย จึงมีเสียงเรียกร้อง “วัคซีนทางเลือก” ต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเอกชนรายใหญ่ อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนทางเลือก ทั้งซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และวัคซีนอื่นๆที่อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติ โดยยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อฉีดให้กับบุคลากร พนักงานและครอบครัว รวมถึงกลุ่มองค์กร โดยไม่มีเรียกเก็บเงินหรือนำไปจำหน่ายต่อ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความจำนงต้องการวัคซีนทางเลือกอีก 1 ล้านโดส

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง