เร่งกระจายวัคซีนโควิด ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยก่อนปี 66

02 มิ.ย. 2564 | 11:00 น.
541

กูรูชี้ มีโอกาสพลิกเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดเร็วขึ้นกว่าต้นปี 66 หากรัฐเร่งกระจายวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่เร็วกว่าต้นปีหน้า แนะรัฐอัดกระสุนทั้งปริมาณและคุณภาพ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็น วิกฤติด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและเป็นบททดสอบสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่เป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่การกระจายวัคซีนยังไม่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว อาจต้องรอถึงไตรมาสแรกปี 2566 กว่าจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งลากยาวกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิดได้ในไตรมาส 2 ปี 2565 

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ก่อนปี 2566 คือ 1.การกระจายวัคซีนกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ในระยะข้างหน้าจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยว่าจะฟื้นตัวเร็วหรือช้ากว่าที่ธปท.คาดการณ์หรือไม่ 2.เศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทย ซึ่งส่วนตัวมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศจะยังมีผลต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ เพราะหลังๆเริ่มเห็นเครื่องชี้เศรษฐกิจออกมาไม่ดี

“อย่างเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนออกมาไม่ดีเท่ากับตลาดคาด และตลาดยังมีความยังกังวลเรื่องหนี้ ความมั่นคงของสถาบันการเงินคุณภาพหุ้นกู้และทางการจีนดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวมากนัก ฝั่งสหรัฐเองแม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดี แต่มีประเด็นเงินเฟ้อสูงกว่าคาดแม้ความเสี่ยงโควิด-19 จะลดลง หลังจากฉีดวัคซีนไปมากแล้ว แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจ การส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการดำเนินนโยบายในระยะข้างหน้าอย่างน้อย 1 ปีกว่า” นายเชาว์ กล่าว 

ส่วนปัจจัยที่่ 3 คือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งบทบาทยังอยู่ที่นโยบายการคลังซึ่งมีข้อจำกัดถ้าเหตุการณ์ลากยาวความจำเป็นในการกระตุ้นหรือการใช้เงินอาจจะกลับมา นอกจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาทแล้ว รัฐบาลอาจต้องพิจารณาเรื่องความจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจกับเพดานก่อหนี้ด้วย 

“เรื่องใหญ่ยังเป็นเรื่องการฉีดวัคซีนการควบคุมการแพร่ระบาด ถ้าการ์ดตกจะกลับมาอีก รวมถึงเศรษฐกิจต่างประเทศฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือสะดุด ซึ่งต้องรอดูเหตุการณ์ทั้งสหรัฐและจีนในอีก 6-7 เดือนข้างหน้าก็จะรู้ว่าเศรษฐกิจจะแกร่งเพียงใด รวมถึงการดำเนินนโยบายด้านการคลังรัฐบาลจะชั่งน้ำหนักประคองเศรษฐกิจไปไตรมาสแรกของปี 2566” นายเชาว์ กล่าว

เร่งกระจายวัคซีนโควิด ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยก่อนปี 66

ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซีประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับธปท.ว่า ต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างถาวรและกว้าง เพราะไทยต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งฟื้นตัวช้า 

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยเองยังมีแผลเป็นค่อนข้างลึก เช่น ภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 89.3% ของจีดีพีเมื่อสิ้นปีก่อน มาอยู่ที่ 91% ในไตรมาส 1ปีหน้า เนื่องจากความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายยังมีสูง ทำให้สัดส่วนจะยังทรงตัวในระดับสูงราว 88-90% สิ้นปีนี้ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ความสามารถในการแข่งขันปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล

ที่สำคัญต้องเร่งฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่รวมทั้งเตรียมวัคซีนรองรับในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อการฉีดวัคซีนให้ต่อเนื่อง เพราะอาจมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามา บวกกับนโยบายภาครัฐทั้งปริมาณเม็ดเงินและคุณภาพในการเยียวยา โดยเฉพาะการช่วยเอสเอ็มอีเรื่องสภาพคล่องและสนับสนุนการจ้างงานและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งปรับทักษะแรงงานและช่วยเอสเอ็มอีเข้าสู่โลกดิจิทัลคือ สามารถปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางปฏิบัติ และการสนับสนุน New growth industries ในอนาคต

“โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจพลิกกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดนั้น ขึ้นกับการเร่งฉีดวัคซีนและสำรองวัคซีนสำหรับฉีดซ้ำที่ต่อเนื่อง เพราะยังมีความกังวลเรื่องไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ จึงต้องฉีดวัคซีน
ซ้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยว และมาตรการทางการคลังจำเป็นต้องได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะให้เศรษฐกิจพลิกกลับสู่ระดับก่อนโควิดได้เร็วกว่าไตรมาส 1 ปี 2566” นายยรรยง กล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,684 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง