"ปตท."เล็งนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ช่วยรัฐรักษาผู้ป่วยโควิด-19

27 พ.ค. 2564 | 15:55 น.

"ปตท."เล็งนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ช่วยรัฐรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้านวัคซีนทางเลือกขึ้นอยู่กับการจัดสรรของ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์"

นายอรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปลายเดือนมิถุนายนนี้  ปตท.โดยบริษัทลูกในเครือ บริษัท อินโนบิก(เอเซีย) จำกัด  ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาแห่งไต้หวัน เตรียมนำเข้า ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) ที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ 
    ทั้งนี้  จะดำเนินการนำเข้ามาประมมณ 2 พันขวด เพื่อมอบให้กับรัฐบาลไทยนำไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ามาแล้วประมาณ 4 พันขวด และมีความจำเป็นต้องใช้มากยิ่งขึ้น  เนื่องจากขณะนี้ยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19  ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) นั้น  พบว่าผู้ใช้บางส่วน เช่น หญิงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ ดังนั้น จึงมองว่า ยาเรมเดซิเวียร์น่าจะมาช่วยผู้ป่วยโควิด-19 หายจากโรค และลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น  
    ส่วนประเด็นเรื่องของการใช้วัคซีนทางเลือก ซึ่ง ปตท. ได้ดำเนินการร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาล ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนจะมีปริมาณเท่าใด หรือเป็นยี่ห้อใดนั้น ต้องก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของ  ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  โดย ปตท.จะนำไปใช้สำหรับพนักงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งก็จะช่วยลดภาระการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลได้ส่วนหนึ่ง
    และเป็นการหนุนเสริมการบริหารการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน  ในขณะเดียวกัน ปตท.ก็พร้อมร่วมเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนของภาครัฐ นอกเหนือจากปั๊มน้ำมัน พีทีทีสเตชั่น ใน กทม.ก็พร้อมจะใช้พื้นที่อื่นๆ ของกลุ่ม ปตท.ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดระยอง และจังหวัดอื่นๆ ในการเป็นพื้นที่กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง
    ขณะที่การช่วยเหลือสังคมในวิกฤติโควิด-19ระลอกสามนั้น ล่าสุดกลุ่ม ปตท. มีการใช้เงินไปแล้วประมาณ 170 ล้านบาท จากที่ตั้งกรอบวงเงินไว้ประมาณ 200 ล้านบาท ในการช่วยเหลือ โดยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการช่วยเหลือก็จะดูถึงความต้องการรวมถึงความจำเป็นเป็นหลัก โดย ปตท. จะมีการสำรวจความต้องการโดยรวม เช่น  การบริจาค เครื่องช่วยหายใจไปแล้ว กว่า 300 เครื่องแก่โรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงออกซิเจนและอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ดำเนินการร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของรัฐบาล ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน โดย ปตท. จะหนุนเสริมการบริหารการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนต่อลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็ว และเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนทุกระดับได้กลับไปดำเนินชีวิตวิถีใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
    นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักดังกล่าวข้างต้น ปตท. ยังร่วมกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือในขอบเขตต่างๆ ได้แก่ การแพทย์และการสาธารณสุขในการป้องกันสุขภาพ  การวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :