“สุวัจน์” ร่ายยาวแนะรัฐ เร่งมือหาวัคซีน-หนุนกู้เงินแก้วิกฤติโควิด-19

22 พ.ค. 2564 | 18:47 น.
572

“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”ร่ายยาว เสนอแนวทางรับมือวิกฤติโควิด-19 รัฐต้องเร่งมือหาวัคซีน เพื่อให้โควิดจบเร็ว ถ้ายิ่งช้าเศรษฐกิจก็จะฟื้นช้า หนุนกู้เงินแก้วิกฤติ อย่าทอดทิ้งเอสเอ็มอี ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการสู้วิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 ว่า สถานการณ์ค่อนข้างหนัก ถือว่ารุนแรงเป็นนิวเรคคอร์ดถึงหลักแสนคน ทำนิวไฮผู้ติดเชื้อถึงเกือบ 10,000 คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตระดับ 600 คนแล้ว จึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะโควิดย่อมส่งผลถึงเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น วันนี้พี่น้องประชาชนจึงเป็นห่วง ถ้าวัคซีนมาเร็วโควิดก็จบเร็ว ถ้าโควิดจบเร็วเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวเร็ว

จากสถานการณ์ของโลกชี้ให้เห็นว่าวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะผลจากการฉีดวัคซีนไปกว่า 1.4 พันล้านโดสทั่วทั้งโลก ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 166 ล้านคน เสียชีวิต 2% หรือ 33 คนทั่วโลก เห็นชัดว่าอัตราติดเชื้อและเสียชีวิตของโลกลดลง จึงจำเป็นต้องแก้ไขจัดการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศให้ได้ 

หรือตามหลักทางการแพทย์กำหนดให้ต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชากร หรือราวๆ 50 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้วัคซีนคนละ 2 เข็ม หรือ 100 ล้านโดส ถึงจะสร้างภูมินี้ขึ้นได้ แต่ในข้อเท็จจริงขณะนี้เราฉีดไปแล้ว 2.1-2.2 ล้านโดส คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ประมาณ 1.5 ล้านคน เข็มสอง 8 แสนคน เท่ากับวันนี้เราฉีดวัคซีนให้คนในประเทศ 1.5-2% ของประชากรเท่านั้น เป็นอันดับ 50 กว่าจาก 190 ของโลก อันดับ 5-6 ของอาเซียน อยู่ในลำดับกลางๆ ถือว่ายังห่างจากเป้าหมาย 100 ล้านโดส จึงจำเป็นต้องเร่งการฉีด 

“ผมคิดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งมือในการหาวัคซีน ต้องเปิดกว้างในการจัดหาให้ได้มากที่สุด ภาครัฐ เอกชน ใครมีคอนเน็กชั่น สามารถช่วยประเทศนำเข้าวัคซีนที่ปลอดภัย โดยเป็นวัคซีนที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเลือกใช้ หรือผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้มีตัวเลือกที่หลากหลาย เพื่อให้มีความชัดเจนในเรื่องปริมาณให้พี่น้องประชาชนสบายใจว่าเป้าหมาย 100 ล้านโดสของรัฐบาลนั้น จะทำได้ตามแผน หรือเร่งรัดให้เร็วกว่าแผนได้ คนจะได้มั่นใจให้ความร่วมมือ 

เพราะถ้าดูในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ รัฐบาลจะได้วัคซีนมาเพิ่มอีก 16 ล้านโดส แต่ยอดคนลงทะเบียนจองวัคซีนมีแค่ 5.7 ล้านคน หรือ 30% จาก 16 ล้านคนเท่านั้น ในเมื่อเรามองวัคซีนเป็นทางออก แต่ทำไมตัวเลขคนประสงค์จะฉีดถึงต่ำ อันนี้เป็นปัจจัยที่ต้องมาคิดว่า สังคมไม่เชื่อมั่นอะไร เพื่อแก้ไข ออกแคมเปญให้เห็นถึงประโยชน์ ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนคือ คำตอบของเรื่องนี้”
 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโควิดก็ต้องผ่านพ้นไปจะช้าหรือเร็วเท่านั้น วันนี้แม้โลกจะยังไม่ชนะ แต่แนวโน้มทั่วโลกผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ภายในปีนี้ปัญหาโควิดที่เกี่ยวกับสุขภาพน่าจะคลี่คลาย แต่ระหว่างนี้รัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนให้ป้องกันตัวเองให้ครบทุกมิติ ให้ช่วยกันดูแลตนเอง ออกกำลังกายให้แข็งแรง ต้องมีโซเชียลดิสแทนส์อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนตัวอยากให้โควิดจบเร็วๆ เพราะถ้ายิ่งช้า เศรษฐกิจก็จะฟื้นช้า ระลอก 3 เห็นชัดว่าทำลายความเชื่อมั่น แต่ถ้าจบเร็ว รักษาความมั่นใจไว้ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจของเราก็จะกระเตื้องขึ้น ดูได้จากภาพรวมของโลกปีนี้น่าจะขยายอยู่ที่ 5% ตามที่นักวิเคราะห์มอง อย่างสหรัฐก็อาจจะขยายตัว 6.5% จีนก็อยู่ที่ 8% ยุโรปจะอยู่ที่ 3-4% เช่นเดียวกับญี่ปุ่น 

จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ถูกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นและกลับมาขยายตัวนั้น นอกจากจะประสบความสำเร็จในเรื่องการจัดการวัคซีนแล้ว ยังมีการใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้มาตรการในการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารชาติ หรือคิวอี ในการนำเงินออกมาใช้เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ตลาดเศรษฐกิจให้มากขึ้น 

อย่างสหรัฐเป็นตัวอย่างที่ดี มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกว่า 270 ล้านโดส หรือ 40% ของประชากร มากเป็นอันดับ 2 ของโลก แล้วยังใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบแรกถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รอบสองอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ และเตรียมมาถึงรอบสามอีก 4 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวัคซีนบวกกับมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจเขาถึงฟื้นตัว 

สำหรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 นั้น นายสุวัจน์ มองว่า วันนี้นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นว่าเอาโควิดอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องมีเม็ดเงินที่เพียงพอสำหรับออกมาตรการทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยๆ ก็ประคองไม่ให้ทุกคนจมน้ำไปกับวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ 

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

“ถามว่าวันนี้เรายังมีเม็ดเงินอะไรเหลือบ้าง ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ขณะนี้ ยังเหลือใช้อยู่ราว 3.8 แสนล้านบาท เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีแผนงานชัดว่าจะเอาเงินที่เหลืออยู่นี้มาทำอะไรบ้าง อาทิ ต่อโครงการเราชนะ อีก 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 ประมาณ 30-32 ล้านคน โครงการ ม33 เรารักกัน อีก 9.7 ล้านคน อีก 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 เช่นกัน แล้วก็จะมีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 อีก 31 ล้านคน คนละ 3,000 บาท แล้วก็ยังมียิ่งใช้ยิ่งได้ ให้เวาเชอร์ 7,000 บาท การลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือการช่วยเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ได้ทำอย่างต่อเนื่อง” 

นอกจากนี้ เรายังจะมีงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะเข้าสภาในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งสภาคงต้องช่วยกันกลั่นกรองให้ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายให้ถูกต้องกับสถานการณ์ เพราะงบก้อนนี้ถูกจัดทำมาก่อนโควิดระลอก 3 จะเกิด

ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์ระลอก 3 เป็นไฟต์บังคับให้เราต้องเตรียมตัวพิจารณาขยายเพดานเงินกู้ของประเทศด้วย แม้ว่าเดิมทีในเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ เรากำหนดไม่ให้มีภาระหนี้สาธารณะเกิน 60% ของจีดีพี แต่จากปัญหาโควิด และภาระค่าใช้จ่ายขณะนี้ ทำให้มีหนี้อยู่ที่ 55-56% ถือว่าใกล้ชนเพดานเต็มที่ 

วันนี้ภาคเอกชนพูดเรื่องนี้กันเยอะว่าควรจะกู้เงินเพื่อมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีกหรือไม่ สมมุติว่าถ้ากู้เพิ่มอีก 1.1 ล้านล้านบาท หนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 65% นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มพิจารณาถึงความจำเป็นตามแนวทางที่ทุกประเทศใช้กัน เพราะวันนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤติ มีภาวะยกเว้น จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงก่อน ถ้ากระตุ้นแล้วฟื้น ก็ค่อยมาทำงานใช้หนี้กันทีหลัง กลับกันถ้าเราไม่รอดตายวันนี้ก็หมดโอกาสหายใจทันที 

ดังนั้น วันนี้ น้ำมันต้องเต็มถัง ห้ามพร่องเด็ดขาดให้เศรษฐกิจยังเดินได้ อะไรใกล้มือดูก่อน งบปี 65 จะปรับได้ต้องปรับ รัฐสภาต้องเป็นเวทีให้บ้านเมืองในช่วงวิกฤติ

รัฐควรโฟกัส SME อย่าให้โควิดซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“สิ่งที่ผมอยากให้รัฐบาลช่วยเพิ่มเติม คือ ช่วยผู้ประกอบการโดยตรง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเจอกรณีเล็กๆ ระหว่างลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ศูนย์ตนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกันของพรรคชาติพัฒนา มีวงดนตรีมโหรีทานตะวัน เป็นวงมโหรีพื้นบ้าน ตั้งมา 30-40 ปีแล้ว ปรากฏว่าในการให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโรค ทำให้ไม่มีงานแสดง ต้องเอาเครื่องดนตรีซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินไปขายหมด ผมก็คิดแบบนี้ สิ้นปีโควิดจบ คุณก็จบไปพร้อมกับโควิด ไหนจะลูกน้อง 7 คนต้องตกงานอีก แทนที่โควิดจบแล้วจะฟื้นได้

แต่ในภาวะวิกฤตเดือดร้อนถึงขนาดจะต้องขายเครื่องมือทำมาหากิน เป็นเงินเพียงแค่ 3,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่ผมอยากให้เข้าไปช่วย อย่าให้จมน้ำ อุปกรณ์ทำมาหากินต้องยังอยู่ มองไปถึงพวก เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการเล็กๆ ควรเข้าไปดูแล อาจจะเป็นกองทุน หรืออะไรสักอย่างที่คิดขึ้นมาให้เขารักษาอาชีพรอวันที่โควิดจบ 

ผมอยากให้โฟกัสดูแลให้ทุกคนกลับมามีงานทำ ให้ผู้ประกอบการเก่ามาทำงานใหม่ได้ ส่วนอัตราการขยายเศรษฐกิจ แม้จะมีเป้าหมายอยู่ แต่วิกฤตแบบนี้ไม่ได้ก็คงไม่เป็นไร อย่าลืมว่าประเทศเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเดิม ความตั้งใจให้จีดีพีโต 3% ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะโตเท่ากันหมด แต่เป็นค่าเฉลี่ยเท่านั้น ยิ่งสถานการณ์โควิด ไอเอ็มเอฟ ประมาณการไว้ว่าคนที่จะฟื้นตัวเร็วก็คือคนรวย มีทรัพยากรฟื้นได้เลย แต่คนจนจะใช้เวลา 10 กว่าปี ถึงฟื้นตัวได้ ดังนั้น ถ้าเราไม่ให้ความเสมอภาคในการฟื้นตัว โควิดจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้นไปอีก” 

สำหรับประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังโควิดนั้น นายสุวัจน์ มองว่าการมาของโควิดทำให้เกิดนิวนอร์มอลอีโคโนมิกของโลก ที่จะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งเราต้องมองภาพใหญ่ถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของเราด้วย เพราะที่ผ่านมาก่อนที่จะมีโควิด เราก็เผชิญเรื่องท้าทายหลายอย่าง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนเทคโนโลยีดิสรัปต์สารพัด เจอกับสงครามทางการค้า จีดีพีไม่ได้โตมาก ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน เพราะเรามีคู่แข่งในเรื่องตลาดแรงงาน 

ดังนั้น เมื่อโควิดสร้างนิวนอร์มอล เศรษฐกิจโลกปรับตัว มันจึงทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย เดิมเราอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แต่โควิดมันทำให้เราเข้าสู่ยุคที่ 5 แล้ว ดังนั้น มันจึงได้เวลาที่ไทยควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังรับบริบทโลกยุคหลังโควิด อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้มีอัตราการขยายตัวในแบบที่เราพอใจมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เราถือเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าดิจิทัลระดับกลางและบน เข้ามาใช้มาก แต่เราส่งออกสินค้าดิจิทัลในระดับล่างเลย เพราะใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาขีดความสามารถของเราน้อยมาก สิ่งเหล่านี้คือความเสียเปรียบ ความสามารถเรื่องการแข่งขันเราต่ำ เป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศ ทั้งส่งออก หรือแม้แต่ท่องเที่ยว ตัวเลข 40 ล้านคนต่อปี พอโควิดมามันเท่ากับศูนย์เลย เช่นเดียวกับการลงทุนวันนี้ก็ไม่มี จึงต้องบอกให้เศรษฐีมีเงินในไทยช่วยกันนำเงินออกมาลงทุน 

นี่คือ ตัวตนที่สร้างความเสียเปรียบให้กับเรา ไหนจะมีเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BCG ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกอีก ธุรกิจการผลิตสินค้าจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้นในยุคหลังโควิดอีก ถ้าไม่ปรับตัวเราแข่งขันกับเขายากจริงๆ

เพิ่มศักยภาพ SME เกษตรไฮเทค ปรับโครงสร้างภาษี

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องปรับ เรื่องแรก ควรให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองให้มาก ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รัฐควรจูงใจให้คนเที่ยวในประเทศอย่างที่ในช่วงโควิดเราทำ อย่างภูเก็ตแต่ก่อนต่างชาติเที่ยว แต่วันนี้คนไทยได้ไปจากโครงการไทยเที่ยวไทย หรือเรื่องพลังงานก็นำเข้าจากต่างประเทศทั้งนั้น น้ำมัน ก๊าซ ปีๆ เรานำเข้านับล้านล้านบาท แต่วันนี้เรามีพลังงานทดแทน ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 

เรื่องที่สอง จะต้องปรับโครงสร้างโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้สูงที่สุด 

เรื่องที่สาม ต้องวางแกนหลักบนพื้นฐานของจุดแข็ง วันนี้ส่งออกอะไรก็ลำบาก ยกเว้นอาหารกับเกษตร ที่ยังเป็นจุดแข็งของเรา เดิมโครงสร้างพื้นฐานก็มักพูดเรื่องรถไฟฟ้า 5G แต่วันนี้เราจำเป็นต้องพูดโครงสร้างพื้นฐานทางอาหาร หรือเกษตร ต้องมีระบบชลประทานสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อาจจะตั้งเป้าหมายว่า อีก 10 ปีข้างหน้า เราในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก จะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจากพืชหลัก 5 ชนิด ข้าว อ้อย ยาง มันสำปะหลัง ปาล์ม เป็นสินค้าไฮเทคมากขึ้นด้วยการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า  

เรื่องที่สี่ เราควรปรับโครงสร้างทางภาษีกันใหม่ เพราะของเดิมอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจเดิมๆ แต่หลังโควิดการลงทุนจะเปลี่ยนไป ต้องช่วยกันคิดว่าจะปรับโครงสร้างภาษีกันอย่างไร ไม่ให้เป็นภาระกับคนจน อย่าลืมโควิดคนจนมีโอกาสฟื้นตัวช้ากว่าคนรวย ภาษีสามารถปรับลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ ปรับเพื่อทำให้การนำเทคโนโลยี หรือสามารถต่อยอดการผลิตสินค้า และการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพมากขึ้น 

เรื่องที่ห้า หนี้สินของประชาชน วันนี้น่าเป็นห่วงมาก หนี้ครัวเรือนสูงถึง 80% ของจีดีพี สูงที่สุดในรอบ 18 ปีแล้ว ถ้าปล่อยไว้แบบนี้โอกาสที่หนี้จะสูงท่วมจีดีพีมีมาก แล้วจะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมได้ จำเป็นอย่างมากที่ต้องเข้ามาแก้ไข เรื่องที่ 6 ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ SME จะเห็นได้ว่าประเทศไหนมี SME แข็งแรง ประเทศนั้นจะมีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งไปด้วย เพราะ SME เป็นตัวเชื่อมรากหญ้ากับอุตสาหกรรม ถ้า SME ล้มหายตายจากวัตถุดิบจากรากหญ้าไม่ถูกส่งขึ้นไปประกอบเป็นอุตสาหกรรม ถ้า SME ไม่มีก็ไม่มีอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เช่นกัน 

เรื่องสุดท้าย ผมคิดว่าเราต้องมองเรื่องสังคมผู้สูงอายุกันอย่างจริงจัง ขณะนี้ตัวเลขผู้ที่อายุเกิน 60 ปี มีเกือบ 12 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรแล้ว ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนอายุ 60 ปี ปีละ 1 ล้านคน นี่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญ คนเกิดน้อย ช่วงชีวิตคนยาวขึ้นจากการแพทย์ แต่เรายังกำหนดเกษียณ อายุ 60 ปี มันทำให้ประเทศมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจัดสวัสดิการ ดังนั้น เราต้องคิดทำให้ผู้ที่มีประสบการณ์เหล่านี้ ยังเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ถ้านำเทคโนโลยีมาบวกกับคนรุ่นใหม่ แล้วใช้ประสบการณ์ของคนอายุ 60 ปีได้ 

“ผมว่านี่คือ ดรีมทีมของประเทศได้เลยในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมว่าโควิดถ้าไม่มองมันอย่างสิ้นหวัง มันอาจเป็นโอกาสในการทบทวนตัวเองเพื่อทำให้เราดีกว่าเดิมก็ได้ อย่าง 7 ข้อที่ผมพูด อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเราแข็งแกร่งในอนาคตก็ได้ ย้อนกลับไป ไม่มีวิกฤติต้มยำกุ้ง แล้วมาเจอโควิดเลย สถาบันทางการเงินเราอาจแย่แน่ๆ ดังนั้น วันนี้ภาคธุรกิจเจอวิกฤติ แล้วเรียนรู้อะไร การเมือง สาธารณสุขเรียนรู้อะไร นำมาปรับใช้ อย่าเพิ่งจมน้ำ แล้วมองให้เป็นโอกาส” 

การเมืองต้องมีเสถียรภาพ

นายสุวัจน์ ย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใดในช่วงวิกฤติแบบนี้ เสถียรภาพการเมืองสำคัญมาก ถ้าการเมืองอ่อนแอ มีแต่ข่าวความขัดแย้งตลอดมันไม่ส่งผลดีแน่นอน จะกลายเป็นซ้ำเติมวิกฤติอีกด้วย แต่ถ้าเสถียรภาพการเมืองนิ่ง มีความเข้มแข็ง การเมืองทุกฝ่ายช่วยกันทำหน้าที่ให้ความเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ 

ขณะเดียวกันผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องใจกว้างรับฟัง ให้ถือว่าทุกความเห็นมีความหมายต่อการอยู่ ถ้าช่วยกันได้อย่างนี้ ประชาชนก็จะมีความมั่นใจในมาตรการพร้อมให้ความร่วมมือ ต่างชาติมองเข้ามาก็มั่นใจ  

“ผมคิดว่าการเมืองวันนี้นับถอยหลังแล้ว เลยครึ่งเทอมมาแล้ว ถ้าเป็นฟุตบอลก็เตะมาถึงช่วง 10 นาทีสุดท้าย เพราะเข้าปีที่ 3 แล้ว อีกไม่นานกรรมการหรือพี่น้องประชาชนจะต้องให้คะแนนอีกครั้ง ผมเชื่อว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ผลกระทบต่างๆ จากวิกฤติโควิดที่ประชาชนได้รับ จะอยู่ในใจของเขาตลอด ฉะนั้น ผลงานเรื่องโควิดจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เขาตัดสินใจในทางการเมืองอย่างไรต่อไปแน่นอน”อดีตรองนายกฯ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :